ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

สารบัญ

หลักเกณฑ์ในการสอนคำสอนช่วงวัยที่ 1: วัยทารก – 5 ปี
ช่วงวัยที่
1: วัยทารก – 5 ปี

“การเป็นภาพลักษณ์และการเป็นเหมือนพระเจ้า”

หลักการ
      
กระบวนการสอนคำสอนในวัยเด็กทารกมีค่ายิ่งนักในทางการศึกษา เด็กควรได้รับพัฒนาชีวิตตามลักษณะพื้นฐานทางด้านการเป็นมนุษย์ โดยให้มี ความรู้สึกของความไว้วางใจ อิสรภาพ การเสียสละ การวอนขอ การมีส่วนร่วมด้วยความยินดี ลักษณะที่สำคัญของการฝึกอบรมเด็กๆ ก็คือ การฝึกให้สวดภาวนา และ การอธิบายพระคัมภีร์ (GDC 178)

จุดประสงค์
     
เพื่อปลุกจิตสำนึกและปลูกฝังความเชื่อในช่วงวัยแรกเริ่มชีวิตของเด็ก

วัยทารก – 3 ปี

เป้าหมาย: เป็นการฝึกอบรมเด็กให้เป็นบุคคลที่มีพัฒนาที่มีความสมบูรณ์ตามช่วงวัยและปลูกฝังความเชื่อศรัทธาให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็ก

สภาพทั่วไปตามวัย: ในช่วงอายุนี้ เด็กๆ เริ่มเข้าสู่ชีวิตการเป็นบุคคลและมีชีวิตจิตด้วยการหล่อหลอมจากบรรยากาศในครอบครัวโดยผ่านทางความรักของคุณพ่อคุณแม่ การเอาใจใส่ของบุคคลในครอบครัว การสอนให้การภาวนา การดำเนินชีวิตที่เป็นประจักษ์พยานในชีวิตประจำวัน ความเชื่อและการนมัสการพระเจ้าของชุมชน และการได้ฟังเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องจากพระคัมภีร์ ความเชื่อศรัทธาในวัยนี้ หมายถึง ความเชื่อถือ การเชื่อมั่น (Believe) ไว้วางใจ (trust) และการรู้จัก (know)

จุดประสงค์: เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ และลูกๆ รู้จัก เฉลิมฉลอง ดำเนินชีวิต และแสดงตนเป็นประจักษ์พยานถึงพระธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพในครอบครัว โดยการฝึกอบรมความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐานและเพื่อชีวิตความเชื่อศรัทธาของเด็กๆ

ครอบครัวคริสตชนจะต้องดำเนินชีวิตเป็นประจักษ์พยาน ที่มีความรู้ มีการรำพึงภาวนา และการเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพในฐานะที่เป็นพระศาสนจักรระดับบ้าน

เนื้อหาคำสอนในช่วงนี้ ประกอบด้วย

  1. การเป็นคุณพ่อคุณแม่ (parenting) รู้ดีถึงความหมายของการเป็นคุณพ่อคุณแม่
  2. การดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรมในแต่ละวัน
  3. ความสัมพันธ์ในครอบครัว
  4. ปีพิธีกรรม
  5. ชีวิตศีลศักดิ์สิทธิ์
  6. การใช้ชีวิตในชุมชนและการทำหน้าที่ประกาศข่าวดี

วิธีการอบรมเลี้ยงดูลูก

  1. ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิด (protecting)
  2. การหล่อเลี้ยง/บำรุง (nourishing/nurturing)
  3. ให้การชี้แนะ (guiding)
  4. ให้ความรัก (loving)

  1. การทำหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ (parenting)

        หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่: การป้องกัน (protecting) อันตรายทั้งร่างกายและจิตใจที่จะเกิดขึ้นกับลูก การหล่อเลี้ยง/บำรุง (nourishing/nurturing) สิ่งที่ดี คุณธรรมความดี คุณลักษณะที่เหมาะสม ให้คำแนะนำ (guiding) สิ่งที่ดี และการให้ความรัก (loving)

ช่วงตั้งครรภ์

  • คุณพ่อคุณแม่เอาใจใส่เรื่องของการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน การหย่อนใจและการภาวนาให้เป็นนิสัย
  • คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกันถึงเรื่องการรับผิดชอบในการเตรียมต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว
  • คุณพ่อคุณแม่แสวงหาความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็กตามวัย (ร่างกาย สังคม อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา)
  • คุณพ่อคุณแม่สื่อสารกับลูกที่อยู่ในครรภ์ตั้งแต่อายุ 5 เดือน โดยการอ่านดังๆ การเล่นดนตรี ร้องเพลง และการภาวนาดังๆ
  • คุณพ่อคุณแม่วางแผนการรับศีลล้างบาปของลูก

ช่วงการเกิด

  • คุณพ่อคุณแม่คุยกันอย่างเปิดเผยและซื่อตรงต่อกันและกันในการวางแผนดูแลลูก
  • คุณพ่อคุณแม่ปรึกษาหารือเรื่องการให้กำเนิดและการเลี้ยงดูลูกจากบุคคลในชุมชนและในพระศาสนจักร
  • คุณพ่อคุณแม่ฝึกลูกโดยสังเกตดูความสามารถของเขา
  • คุณพ่อคุณแม่รับรู้และเสริมเพิ่มเติมความสามารถของลูก
  • คุณพ่อคุณแม่สวดภาวนาดังๆ ร่วมกับลูก
  • คุณพ่อคุณแม่จัดเวลาเพื่อสังสรรค์ทางสังคมกับเพื่อนๆ

ช่วงเวลาการเสริมสร้างความเชื่อศรัทธาแรกเริ่ม

  • คุณพ่อคุณแม่สบตาลูกด้วยสายตาแห่งความรัก ความอบอุ่น
  • คุณพ่อคุณแม่แสดงความรัก ความอ่อนโยน การยอมรับลูกด้วยการอุ้มและการหอมแก้ม การสัมผัส
  • คุณพ่อคุณแม่สื่อสารกับลูกด้วยคำพูด การกระซิบและการแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง
  • คุณพ่อคุณแม่แสดงความรักความห่วงใยต่อกันเพื่อเป็นแบบอย่างให้ลูกได้ซึมซับ

การเตรียมบรรยากาศในบ้าน

  • คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวพี่ๆ (ถ้ามี) โดยให้มีส่วนร่วมในการเตรียมต้อนรับสมาชิกใหม่ในครอบครัว
  • คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมให้พี่ๆได้ช่วยเหลือในการต้อนรับน้อง เช่น หิ้วประเป๋า ถือของ ฯลฯ
  • คุณพ่อคุณแม่สื่อสารอย่างชัดเจนแก่กันและกันถึงความต้องการและความรู้สึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ต่างๆในชีวิต
  • ให้พี่อยู่ร่วมกัน ในการสวดภาวนา โดยให้คุณพ่อคุณแม่จุดเทียนและภาวนาต้อนรับสมาชิกคนใหม่ในครอบครัว
  • คุณพ่อคุณแม่จัดเวลาภาวนาร่วมกันก่อนที่จะเข้านอน

การตั้งชื่อ

  • คุณพ่อคุณแม่สำรวจชื่อต่างๆที่เหมาะสมกับลูก
  • คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจเลือกชื่อให้มีความหมายกับครอบครัว รวมถึงชื่อในพระคัมภีร์ ชื่อนักบุญ

ในช่วงแรกๆของชีวิต

  • คุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจและสนองตอบต่อความต้องการตามพัฒนาการของลูก (ร่างกาย อารมณ์ สังคมและจิตใจ) ด้วยความสงบและความเพียรทน
  • คุณพ่อคุณแม่พูดคุยหารือกันเพื่อฝึกลูกให้มีพฤติกรรมเหมาะตามวัยของเขา และปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (เช่น วินัย สิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ)
  • คุณพ่อคุณแม่ประยุกต์หลักศีลธรรม(พระบัญญัติ) หรือชีวิตจิตเพื่อนำมาใช้แก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก

  1.  การดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรมในแต่ละวัน

เพื่อการปกป้อง หล่อเลี้ยง ชี้แนะให้แนวทางและความรักให้แก่ลูกๆ ของตน คุณพ่อคุณแม่ต้อง…..

  • ใช้ทุกช่วงเวลาเพื่อเป็นการสอน (เช่น ให้มีเวลาเงียบ เวลาเล่น เวลารับประทานอาหาร เวลาเล่าเรื่อง เวลาที่อยู่สองต่อสอง เวลาอาบน้ำ เวลาสวดภาวนาก่อนและหลังอาหาร เวลาหยุดช่วงสุดสัปดาห์ พิธีกรรมวันอาทิตย์)
  • เวลาเข้านอน (ตัวอย่างเช่น การเล่าเรื่อง การทำเครื่องหมายกางเขน การภาวนา การหอมแก้มก่อนส่งเข้านอน การพูดคุย เวลาเพื่อพัฒนาจินตนาการ
  • ระหว่างการรับประทานอาหาร (ตัวอย่างเช่น การภาวนา การมาร่วมพร้อมกันที่โต๊ะอาหาร การเล่าเรื่อง การแบ่งปันอาหาร การเคารพกัน การมีกิริยามารยาทที่ดี)
  • เวลาเล่าเรื่อง (ตัวอย่างเช่น เรื่องจากพระคัมภีร์ เพลงอนุบาล เรื่องเล่าที่แต่งขึ้นเอง เรื่องเด็กๆ การให้เด็กๆช่วยเล่าเรื่อง)
  • การภาวนา (ตัวอย่างเช่น ให้เด็กๆได้รับรู้ถึงความน่าอัศจรรย์ของสิ่งสร้างต่างๆที่พระเจ้าประทานให้ การให้เด็กได้ค้นพบความน่าพิศวงของสิ่งสร้างต่างๆ การภาวนาเช้าและเย็น การภาวนาก่อนและหลังอาหาร การภาวนาขอบพระคุณและสรรเสริญ การภาวนาให้ผู้อื่น การสงบนิ่ง การทำเครื่องหมายกางเขน การภาวนาพร้อมกันในครอบครัว)
  • ทุกเวลาโดยผ่านทางการสัมผัสทางกาย (ตัวอย่างเช่น การจูงมือ การสัมผัสด้วยความรักความห่วงใย การพูดคุย การป้อนอาหาร การรับรู้และดูแลเมื่อร้องไห้ การดูแลยามเจ็บป่วย การอาบน้ำและการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้)
  • ในทุกขั้นตอนของพัฒนาการโดยการเป็นแบบอย่างของการรักษาสุขภาพที่ดี (ตัวอย่างเช่น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การแต่งตัว การละเล่น กิจกรรมทางร่างกาย การสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็นให้เช่น การคลาน การกลับตัว การพยุงตัวเพื่อเรียนรู้ที่จะเดิน ในยามเจ็บปวด)
  • เวลาที่เด็กๆ จะต้องแยกจากบุคคลใกล้ชิด (ตัวอย่างเช่น จากพี่เลี้ยงหรือคนดูแล การสูญเสียของเล่นที่ชอบ สัตว์เลี้ยง ความเศร้าโศก การย้ายที่ การเปลี่ยนแปลง)
  • การเยี่ยมเยือน (ตัวอย่างเช่น การเป็นตัวอย่างของการทักทาย ความสุภาพ มิตรไมตรี ยิ้มแย้มแจ่มใส การต้อนรับและการแสดงความเคารพที่มีต่อเพื่อน หรือญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมบ้าน การสอนให้แสดงความเคารพต่อผู้อื่น)
  • ช่วงเวลาที่สอนให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมได้ (ตัวอย่างเช่น “การสร้างครอบครัวที่ดี มีอบอุ่นอ่อนโยน การให้อภัย การให้ความเคารพ ความซื่อสัตย์และการรับใช้ที่ไม่หวังผล ให้เป็นหลักปฏิบัติประจำบ้าน” เป็นการสอนคุณธรรม เสรีภาพ และการมีวินัย) (CCC 2223)
  • การมาอยู่ร่วมกันเพื่อการฉลอง (ตัวอย่างเช่น วันเกิด วันแม่ วันพ่อ วันฉลองนักบุญ วันรับศีลล้างบาป วันขอบคุณพระเจ้า วันฉลองคริสต์มาส วันฉลองปัสกา)
  • เวลาให้เด็กได้เล่นอยู่เงียบคนเดียวเพื่อมีประสบการณ์การสันโดษ(ปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว อยู่เงียบๆ เล่นคนเดียวได้)  
  • เวลาเล่น

- ชวนเด็กๆให้สำรวจของขวัญที่พระเจ้าประทานให้ในธรรมชาติรอบตัว ทั้งน้ำ ทราย หิน ดอกไม้และอากาศ

- ให้ของเล่นที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก

- ให้เด็กๆ ได้สำรวจสี รูปร่าง ขนาด ลายเส้นผ้าและรูปแบบ ศีลปะ บทเพลง

- ส่งเสริมให้เด็กๆทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เช่น การเต้น การวาด การปั้น การแสดง การระบายสี การตัดปะ ฯลฯ

  • การเปลี่ยนฤดู เชิญชวนให้เด็กๆ ได้สัมผัสธรรมชาติ ในบรรยากาศต่างๆ ความร้อน ความหนาว ฯลฯ

เครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าชีวิตจิตของเด็กกำลังเจริญเติบโตตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยที่เด็กอายุ 0-3 แสดงออกด้วยพฤติกรรม เหล่านี้

  • แสดงออกถึงความยินดี มีความสุขมากกว่ามีความทุกข์ เศร้าโศกในชีวิตประจำวัน
  • มีความรู้สึกกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น มีอิสระที่จะเล่น ค้นหาตนเอง อยากทำทุกอย่าง
  • เริ่มเรียกชื่อต่างๆได้
  • รู้จักเคารพผู้อื่นเมื่อผู้ใหญ่บอก
  • รู้จักใช้เวลาอยู่เงียบๆ ได้ (เวลาฟังเรื่องเล่า เวลาอยู่ในวัด เวลาพักผ่อน)
  • รู้จักเคารพสิ่งของของผู้อื่น
  • เริ่มรู้จักเคารพตนเอง การดูแลตนเองและผู้อื่นได้

  1. ความสัมพันธ์กับครอบครัว

เพื่อการปกป้อง หล่อเลี้ยง ชี้แนะให้แนวทางและความรักแก่ลูกๆ ของตน คุณพ่อคุณแม่ต้อง

กับพี่ๆน้องๆ

  • พ่อแม่จะต้องเตรียมพี่ๆเพื่อการต้อนรับสมาชิกใหม่ ด้วยจิตตารมณ์แห่งความรักและการต้อนรับ
  • พ่อแม่รวมถึงพี่ๆร่วมกันวางแผนในการต้อนรับสมาชิกใหม่
  • พ่อแม่จะต้องสนับสนุนให้พี่ๆร่วมกันดูแลน้องตามกำลังความสามารถ (เช่น ช่วยเตรียมอุปกรณ์การอาบน้ำให้น้อง ช่วยถือของใช้ของน้อง)

คุณปู่คุณย่า-คุณตาคุณยาย

  • พ่อแม่ควรปรึกษาคุณปู่คุณย่าที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการเลี้ยงดูลูกในเวลาที่เหมาะสม
  • พ่อแม่และคุณปู่คุณย่าร่วมงานฉลองของครอบครัวเสมอ
  • พ่อแม่ควรเชื่อมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับคุณปู่คุณย่าโดยการพากันไปเยี่ยมเยือน การโทรศัพท์ การถ่ายภาพ การเล่าเรื่อง และงานศิลปะ

คุณลุง คุณป้าและญาติพี่น้อง

  • คุณพ่อคุณแม่ต้องแนะนำลูกให้รู้จักสมาชิกในครอบครัวโดยการบอกกล่าวถึงการเกิด การฉลองวันเกิด การรับศีลล้างบาป และการฉลองอื่นๆในครอบครัว
  • คุณพ่อคุณแม่ต้องแนะนำและสร้างความสัมพันธ์กับญาติเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของญาติพี่น้อง

คุณพ่อคุณแม่ทูลหัว

  • เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ทูนหัวที่จะต้องให้การสนับสนุนคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่าในการให้การอบรมสั่งสอนด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดต่อกัน
  • คุณพ่อคุณแม่ทูลหัวสนับสนุนให้ลูกทูลหัวเติบโตในความเชื่อด้วยการเป็นแบบอย่างดีและด้วยคำสั่งสอน

สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนเตรียมอนุบาล

  • คุณพ่อคุณแม่ต้องสำรวจคุณภาพของสถานที่รับเลี้ยงเด็กที่เหมาะสมในการส่งเสริมคุณค่าของครอบครัว
  • คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมลูกเพื่อการเข้าสู่บรรยากาศใหม่ของสถานรับเลี้ยงเด็ก
  • คุณพ่อคุณแม่ต้องชัดเจนต่อความต้องการของเด็กและความคาดหวังของเขา รวมถึงบรรยากาศแห่งความเชื่อศรัทธาเหมือนกับที่เด็กได้รับจากบ้าน
  • คุณพ่อคุณแม่จะต้องร่วมมือ ติดต่อกับผู้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด

คนเลี้ยงลูก

  • คุณพ่อคุณแม่จะต้องสืบเสาะหาคนเลี้ยงดูลูกที่จะช่วยให้ลูกได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสม
  • คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจกับลูกถึงการทีต้องอยู่กับพี่เลี้ยงในบางเวลา
  • คุณพ่อคุณแม่ต้องชี้แจงถึงความต้องการและความคาดหวังให้พี่เลี้ยงทราบก่อนอย่างชัดเจน
  • คุณพ่อคุณแม่ต้องร่วมมือ ติดตาม การเลี้ยงดูของพี่เลี้ยงแต่ควรกระทำด้วยความเคารพ

เครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าชีวิตจิตของเด็กกำลังเจริญเติบโตตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยที่เด็กอายุ 0-3 แสดงออกด้วยพฤติกรรม เหล่านี้

  • พัฒนาความรู้สึกเป็นเจ้าของต่อครอบครัว
  • แสดงความรู้สึกที่มีความสุขกับคุณพ่อคุณแม่
  • พัฒนาความรู้สึกที่มีความสุขในการพบกับคนอื่นนอกเหนือจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะกับสมาชิกในวัด
  • มีประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้จากการเลียบแบบผู้อื่น
  • เริ่มสังเกตและยอมรับความแตกต่างๆ
  • พัฒนาความรู้สึกไว้วางใจ และการพึ่งตนเอง

 

  1. ปีพิธีกรรม

โดยการเปิดโอกาสให้เด็กๆได้มีประสบการณ์ต่างๆ ตามความสามารถเท่าที่จะทำได้

1) การไปร่วมพิธีมิสซาในวันอาทิตย์ (เช่น การร้องเพลง การแห่)

  • คุณพ่อคุณแม่จะต้องแสดงให้ลูกเห็นถึงความสำคัญของวันอาทิตย์ โดยการไปร่วมพิธีมิสซา การเตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะสม
  • จัดเวลาเพื่อการไปร่วมพิธีมิสซาพร้อมกันในครอบครัว

2) ระหว่างเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระเยซูเจ้าและคริสตมาส

  • คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับเทศกาลนี้ (เช่น ความหมายของการรอคอย การนับถอยหลังเพื่อการฉลองวันคริสต์มาส การทำพวงมาลัยคริสต์มาส การจัดทำปฏิทินเตรียมการฉลอง การเตรียมต้นคริสต์มาส เตรียมดาว เตรียมถ้ำพระกุมาร เตรียมของขวัญเพื่อนำไปให้คนยากจน อธิบาลความหมายของการให้ จุดเทียน การอ่านเรื่องการบังเกิดของพระเยซู การเปิดซีดีเรื่องวันคริสต์มาส ฯลฯ

3) เทศกาลมหาพรตและปัสกา

  • คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายความหมายของเทศกาลนี้ด้วยภาษาที่เหมาะสมกับวัยของลูก (เช่น ทำไมเทศกาลมหาพรตจึงเป็นเวลาพิเศษของปี ความหมายของสีม่วง ความสำคัญของการที่จะคิดถึงคนอื่นๆโดยการสะสมเงินเพื่อนำไปช่วยคนยากจน การภาวนามากกว่าเวลาปรกติ ทำไม่ต้องใช้น้ำเสก การเปรียบเทียบความหมายของน้ำเพื่อการชำล้างกับน้ำแห่งศีลล้างบาป
  • ให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกเดินไปเที่ยวชมรูป 14 ภาคในวัด แล้วอธิบายให้ลูกรู้เหตุการณ์ต่างๆด้วยภาษาที่เหมาะสมกับวัยของลูก เล่าเรื่องความตายของพระเยซูเจ้าเป็นการแสดงความรักต่อเรามนุษย์ โดยเน้นว่าความรักของพระเยซูเจ้าที่มีต่อพระบิดาและต่อเราทุกคน การช่วยเหลือพระเยซูแบกไม้กางเขน ความรักของแม่ที่มีต่อลูก ฯลฯ
  • คุณพ่อคุณแม่อธิบายความหมายของการล้างเท้า การแสดงความเคารพต่อไม้กางเขน ดอกไม้วันปัสกา ไข่ปัสกา การพรมน้ำเสก ให้เด็กๆได้สังเกตพิธีกรรมและคอยอธิบายว่าประธานในพิธีกำลังทำอะไร

4) คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปร่วมพิธีในวันฉลองใหญ่ๆ ต่างๆ เพื่อให้ลูกได้มีประสบการณ์และความคุ้นเคย

5) การเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าให้ลูกฟัง

  • คุณพ่อคุณแม่ควรเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าด้วยภาษาที่เหมาะสมกับวัยของลูกในเหตุการณ์ที่ตรงกับวันฉลองต่างๆ (อาจจะใช้ซีดี หนังสือพระคัมภีร์สำหรับเด็ก เพลง ฯลฯ)
  • คุณพ่อคุณแม่ให้ข้อมูลโดยตอบคำถามต่อความต้องการของลูก เช่น ใคร ทำอะไร ทำไม ที่ไหน อย่างไร

6) คุณพ่อคุณแม่แสดงถึงความผูกพันกับวัดและศาสนจักร

  • คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมสนับสนุนลูกให้ลูกมีความอยากรู้อยากเห็นและความรักต่อวัดและพระศาสนจักรด้วยการแสดงตนเป็นแบบอย่าง
  • คุณพ่อคุณแม่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมกับวัดโดยการเป็นสมาชิกของกลุ่มองค์กรที่เหมาะสมกับพระพรที่มี การมีส่วนร่วมในพิธีมิสซาอย่างกระตือรือร้น ด้วยการขับร้องเพลง การฟังพระวาจา การแสดงความเคารพ และการฝึกลูกๆให้รู้จักสงบเงียบ

เครื่องหมายที่แสดงออกว่าเด็กมีความเจริญเติบโตฝ่ายจิตโดยผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว

เด็กตั้งแต่เกิดจนถึงสามขวบ

  • การคุ้นเคยกับไปร่วมพิธีมิสซาหรือวันฉลองกับคุณพ่อคุณแม่
  • แสดงให้เห็นความตั้งใจในขณะร่วมพิธีกรรม
  • ตอบรับบทภาวนาในพิธีมิสซาได้บ้าง (เช่น อาแมน และสถิตกับท่านด้วย)
  • เริ่มจำบทเพลงและร้องเพลงสั้นได้
  • จำบทภาวนาสั้นๆได้
  • เริ่มยืน นั่งคุกเข่าในพิธีได้อย่างดี
  • เข้านั่งประจำที่นั่งอย่างคุ้นเคย
  • ออกพระนามพระเจ้าได้ชัดเจน
  • ทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขนได้เอง
  • ภาวนาสั้นๆ จากใจได้
  • เริ่มมีความชื่นชมกับความสวยงามของธรรมชาติรอบตัวในฐานะที่เป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า

 


  1. ชีวิตกับศีลศักดิ์สิทธิ์

โดยการปกป้อง หล่อเลี้ยง แนะนำ และความรักลูก

1) ส่งเสริมการเฉลอมฉลองพิธีกรรมในบ้าน ชีวิตทุกชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นสถานที่ห่อหุ้มความรัก ความเรียบง่าย การเป็นประจักษ์พยานในชีวิตประจำวัน” (FC, 1981, ข้อ, 53)

  • คุณพ่อคุณแม่อธิบายเปรียบเทียบเชื่อมโยงระหว่างการรับทานอาหารที่บ้านกับงานเลี้ยงอาหารศีลมหาสนิทที่ลูกได้เห็นในพิธีมิสซาฯ (เช่น ที่บ้านเรามารวมกันที่โต๊ะอาหาร เราสวดภาวนาขอพระเจ้าอวยพรเราและอาหารที่เรารับประทาน เราพูดคุยกัน เล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น เรารับประทานอาหารด้วยกัน เราขอบคุณและเราก็ลุกขึ้นจากโต๊ะไปทำธุระส่วนตัวของเรา” “ที่วัดเรามีคนมาร่วมมากกว่าที่บ้านที่นั้นเรามีพระสงฆ์อยู่ร่วมโต๊ะด้วย เราได้รับฟังเรื่องต่างๆเกี่ยวกับพระเจ้าและพระเยซูเจ้า และคำสอนให้เรารักผู้อื่น พระเยซูมอบอาหารฝ่ายจิตของพระองค์แก่เราในรูปของปังและเหล้าองุ่น เราขอบพระคุณพระเจ้า เราร้องเพลงและจากกันได้สิ่งที่ดีให้คุณพ่อคุณแม่ พี่ๆน้องๆ เพื่อนๆ และคนอื่นๆ)
  • คุณพ่อคุณแม่อธิบายเปรียบเทียบ โดยยกเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เด็กสัมผัสหรือมีประสบการณ์ในชีวิตวัน เช่น ขนมปัง อาหาร น้ำมัน น้ำ การแสดงความเคารพ และการยกโทษให้แก่กันและกัน เพื่อเชื่อมโยงกับพิธีมิสซาฯเพื่อให้เด็กเข้าใจธรรมล้ำลึกของพิธีมิสซา
  • คุณพ่อคุณแม่จัดเวลาภาวนาพร้อมกับลูก และสอนให้ลูกสวดบทภาวนาทางการของพระศาสนจักร

2) การรับศีลล้างบาป

  • คุณแม่คุณแม่เตรียมนำลูกไปรับศีลล้างบาป โดยตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะนำลูกเข้าสู่ชีวิตความเชื่อ
  • คุณพ่อคุณแม่ควรให้พี่ๆมีส่วนร่วมในการเข้ารับพิธีล้างบาปของน้อง
  • คุณพ่อคุณแม่ภาวนาวอนขอการทรงนำของพระเจ้าเพื่อจะได้ทำหน้าที่การเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ดี และเป็นตัวอย่างที่ดีในความเชื่อ
  • คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความหมายของการเจิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจิมในศีลล้างบาป

3) การทำหน้าที่ถ่ายทอดความเชื่อตามที่ได้สัญญาไว้

  • คุณพ่อคุณแม่อุทิศตนในการรับผิดชอบโดยการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่าง เป็นประจักษ์พยานแสดงให้เห็นคุณค่าพระวรสารในชีวิต โดยการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันและกับลูกของตน
  • คุณพ่อคุณแม่ภาวนาเพื่อพระหรรษทานสำหรับการดำเนินชีวิต

4) ช่วงเวลาแห่งความตาย

  • คุณพ่อคุณแม่อธิบายเรื่องความตายให้เหมาะสมกับวัยของลูก โดยใช้ตัวอย่างความตายหรือการสูญหายที่เด็กเข้าใจได้ (เช่น ความตายของนก สัตว์ หรือดอกไม้)
  • คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการอธิบายแบบหลักวิชาการ หรือขั้นตอนพัฒนาการ

5) การมีส่วนร่วมกับชีวิตของพระศาสนจักรอย่างเต็มที่

  • คุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นประจักษ์พยานโดยการมีส่วนร่วมกับกิจการของพระศาสนจักรอย่างกระตือรือร้น (เช่น การไปร่วมมิสซาประจำทุกวันอาทิตย์ การรับศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิท การภาวนา และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่ทางวัดจัดขึ้น

เครื่องหมายที่แสดงถึงความเติบโตฝ่ายจิตโดยผ่านทางกิจกรรมต่างๆที่ได้กล่าวไว้ ก็คือ เด็กอายุแรกเกิดถึงอายุสามขวบ แสดงออกให้เห็นได้ด้วยพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้

  • แสดงให้เห็นถึงความประหลาดใจ พิศวง ตื่นเต้น ยินดี ในขณะที่ร่วมพิธีกรรมทั้งที่บ้านและที่วัด
  • เริ่มทำการเชื่อมโยงระหว่างบ้านกับวัด
  • แสดงให้เห็นความตั้งใจในการร่วมพิธีกรรมเพิ่มขึ้น
  • เริ่มจำบทเพลงหรือบทสวดสั้นๆ ซ้ำๆ ได้มากขึ้น
  • จำเรื่องพระเยซูและคำสอนของพระองค์ได้บ้าง
  • เริ่มตั้งคำถามและการพูดถึงพิธีกรรมด้วยภาษาของเขาได้
  • อธิบายความเข้าใจพิธีล้างบาปของตนโดยใช้ภาพถ่ายในวันรับศีลล้างบาป
  • เข้าใจว่าเทียนและเสื้อขาวที่ได้รับในวันรับศีลล้างบาปเป็นสิ่งที่พิเศษกว่าเทียบและเสื้อตัวอื่นๆ
  • ภาวนาด้วยภาษาของตนเอง และภาวนาทางการบางบทได้

 


  1. ชีวิตชุมชนและการประกาศข่าวดี

โดยการปกป้อง หล่อเลี้ยง แนะนำ และการให้ความรักลูก

1) การเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของวัดและชุมชน (เช่น การไปฉลองวัด การร่วมวันฉลองที่วัดจัดขึ้น วันพ่อวันแม่ วันแพร่ธรรมสากล วันยุวธรรมทูต วันครอบครัว ฯลฯ)

  • คุณพ่อคุณแม่พาลูกมาร่วมฉลองกับชุมชนเพื่อให้ลูกได้มีประสบการณ์ต่างๆของวัดและชุมชน
  • คุณพ่อคุณแม่ช่วยอธิบายให้ลูกเข้าใจความหมายของกิจกรรมที่ได้ร่วมกันกระทำ โดยแรงจูงใจให้เห็นความน่าสนใจและกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น
  • คุณพ่อคุณแม่ช่วยกระตุ้นลูกให้คิดถึงสิ่งที่เขาชอบจากกิจกรรมนั้นๆ

2) การพาลูกไปพบกับคนอื่นๆ ทั้งในวัดและชุมชน เพื่อการสร้างความคุ้นเคย และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (เช่น ตำรวจ ครู คนดับเพลิง หมอ พยาบาล ฯลฯ)

  • คุณพ่อคุณแม่สอนลูกให้ให้รู้ว่ามีบุคคลอื่นๆ อีกมากมายที่ช่วยเหลือสังคมให้มีความสงบสุข
  • คุณพ่อคุณแม่แสดงความเคารพบุคคลที่ช่วยเหลือวัดและชุมชนในบทบาทหน้าที่ต่างๆ

3) สร้างจิตสำนึกของการรักษาธรรมชาติ (เช่น การรักษาความสะอาด การประหยัดน้ำ การนำของเก่ามาปรับใช้ใหม่)

  • คุณพ่อคุณแม่แสดงตนป็นตัวอย่างของการการเอาใจใส่ในการใช้สิ่งของต่างๆด้วยความประหยัดและอย่างมีคุณค่า และการรักษาธรรมชาติรอบตัว
  • คุณพ่อคุณแม่สอนลูกให้รับผิดชอบในการรับทานอาหารอย่างรู้คุณค่า การใช้น้ำไฟอย่างประหยัด

4) การช่วยเหลือคนยากจน (เช่น การมอบอาหารให้คนยากจน ให้เสื้อผ้า เวลา ความเป็นเพื่อน และต้อนรับทุกคน)

  • คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมให้ลูกได้บริจาคเสื้อผ้า ของเล่น ให้เพื่อนที่ต้องการ
  • คุณพ่อคุณแม่สอนให้ลูกรู้ถึงความรักของพระเจ้าที่มอบให้ทุกคนไม่เลือกหน้า และพระองค์ทรงสอนให้เราแบ่งปันผู้อื่นด้วย

5) มีส่วนร่วมในวันฉลองของพ่อแม่ (วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน วันฉลองนักบุญ ฯลฯ)

  • คุณพ่อคุณแม่จัดให้ลูกได้มีส่วนร่วมในงานต่างๆ นั้น

6) สร้างจิตสำนึกให้รักขนบธรรมเนียมประเพณี

  • คุณพ่อคุณแม่ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในขนบธรรมเนียมหรือประเพณีปฏิบัติต่างๆในครอบครัว

7) สอนให้ลูกมีชีวิตสังคมและการช่วยเหลือสังคม

  • คุณพ่อคุณแม่เล่าเรื่องที่ตนเองได้มีส่วนร่วมในสังคมอย่างไร (เช่น งานทำ การเป็นจิตอาสาในงานหนึ่งงานใด การเป็นสมาชิกในองค์กรการกุศล หรือการรับใช้สังคม)
  • คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปร่วมกิจกรรมทางสังคมและจิตอาสา
  • คุณพ่อคุณแม่แสดงให้ลูกเห็นว่าครอบครัวได้สนับสนุนวัดทั้งด้วยการบริจาคและการร่วมแรงในกิจกรรมต่างๆ

8) การเป็นประจักษ์พยานในชุมชน

  • คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงออกให้เห็นถึงความเอาใจใส่ต่อวัดและสังคม ด้วยการปฏิบัติทั้งในบ้านและนอกบ้าน

เครื่องหมายของการเติบโตฝ่ายจิตจากการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆที่กล่าวมาแล้ว โดยเด็กอายุสามขวบลงมาแสดงออกด้วยพฤติกรรมเหล่านี้

  • แสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความกระตือรือร้นนอกบ้าน
  • อยากเลียบแบบคุณพ่อคุณแม่ในการทำกิจกรรมต่างๆ
  • ทำงานบ้านโดยไม่ต้องบอก
  • เรียนรู้การรับผิดชอบโดยสังเกตจากการกระทำของคุณพ่อคุณแม่

 

 


คำสอนพระศาสนจักร

หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก

CCC 2204 “ครอบครัวคริสตชน...สมควรอย่างยิ่งที่จะเรียกว่าเป็นพระศาสนจักรระดับบ้าน”

CCC 2205 “ครอบครัวคริสตชนเป็นการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคล เป็นเครื่องหมายและภาพลักษณ์ของการมีชีวิตร่วมกันของพระบิดา พระบุตรในพระจิตเจ้า”

CCC 2207 “ครอบครัวเป็นชุมชนที่บุคคลหนึ่งสามารถเข้าใจคุณค่าทางศีลธรรมตั้งแต่วัยทารก สามารถเริ่มถวายเกียรติพระเจ้าและทำการใช้เสรีภาพอย่างดี ชีวิตครอบครัวเป็นการริเริ่มสู่ชีวิตในสังคม”

CCC 2212 “ความสัมพันธ์อื่นๆในสังคม...ในพี่น้องชายหญิง ในญาติพี่น้อง ผู้สืบเชื้อสายของปู่ย่าตายายของเรา ในเพื่อนร่วมชาติของเรา...ในบรรดาผู้รับศีลล้างบาป ลูกๆของพระศาสนจักร ผู้เป็นมารดาของเรา ในมนุษย์ทุกคนผู้ซึ่งประสงค์ได้รับเรียกว่า พระบิดาของเรา”

CCC 2222 “บิดามารดาต้องถือว่าบุตรของตนเป็นลูกของพระเจ้า และให้ความเคารพในความเป็นบุคคลของบุตร”

CCC 2223 “ครอบครัวเป็นสถานที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการอบรมด้านศีลธรรม”

CCC 2224 “ครอบครัวเป็นสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเพื่อให้มนุษย์มีความมั่นคงและมีความรับผิดชอบ”

CCC 2226 “การให้การอบรมเรื่องความเชื่อ พ่อแม่ต้องเริ่มให้ตั้งแต่ลูกที่ยังอ่อนวัยวัยที่สุด”

CCC 2228 “ความเคารพและความรักของบิดามารดาแสดงออกมาในการดูแลเอาใจใส่ ก่อนสิ่งอื่นใดหมดโดยการทุ่มเทอุทิศตนในการให้การอบรมลูกของตนและการจัดหาสิ่งของตามความต้องการทางร่างกายและฝ่ายจิตใจ”

 

ครอบครัวคริสตชนในโลกปัจจุบัน

ข้อ 17 “ตามแผนการของพระเจ้าผู้สร้างและผู้ไถ่กู้ คอบครัวนอกจากจะพบเอกลักษณ์ของตนคือสิ่งที่เป็นแล้ว ยังพบภารกิจคือ สิ่งที่ครอบครัวสามารถทำและควรทำ

ข้อ 26 “ภายในครอบครัว..สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเอาใจใส่ตัวในตัวเด็กๆเป็นพิเศษ ต้องยกย่องเชิดชูศักดิ์ศรีความเป็นคนของเด็ก ทั้งต้องนับถือและปกป้องสิทธิของเขาด้วยใจเร่าร้อน”

ข้อ 39 “โดยศาสนบริการในการอบรมดูแลลูก พ่อแม่จึงเป็นคนแรกที่ประกาศพระวรสารให้ลูกโดยการดำเนินชีวิตของพ่อแม่เอง”

 

คู่มือแนะแนวทั่วไปสำหรับการสอนคำสอน (GDC)

ข้อ 226 “การปลุกความเชื่อทางศาสนาในวัยเด็กเช่นนี้ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้”

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์