บุคคลในประวัติศาสตร์ความรอด บทเรียนที่ 11
นางรูธ: ผู้มีใจกตัญญู
จุดประสงค์
เมื่อจบบทเรียนแล้ว ผู้เรียนสามารถ
1. รู้จักประวัติของนางรูธ แบบอย่างของผู้มีใจกตัญญู
2. ชื่นชมในความรักและความกตัญญูของนางรูธที่มีต่อนางนาโอมีมารดาของสามี
3. แสดงออกถึงความกตัญญูต่อพระเจ้า บิดามารดาและผู้มีพระคุณด้วยความเคารพอย่างจริงใจ
กิจกรรม ชมคลิป กตัญญู...คุณค่าของคนวัดกันที่อะไร? (เวลา 6:30 นาที) ช่อง We are CP GROUP
อุปกรณ์ 1. ทีวีหรือโปรเจคเตอร์ 2. โน้ตบุ๊ค/แทบเล็ต (อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับจอภาพได้)
3. ลำโพงต่อขยายเสียง 4. คลิป “กตัญญู...คุณค่าของคนวัดกันที่อะไร?”
ดำเนินการ เปิดคลิปวิดีโอ กตัญญู...คุณค่าของคนวัดกันที่อะไร? ให้ผู้เรียนดูและเชิญชวนให้ผู้เรียนดูคลิปอย่างตั้งใจ เพราะจะมีคำถามหลังจากดูจบแล้ว
วิเคราะห์ ผู้สอนสนทนากับผู้เรียน
1. ในคลิปวิดีโอเรื่องนี้ มีตัวละครที่สำคัญเป็นใครบ้าง (ครูประจักษ์, แม่ครูประจักษ์, เด็กนักเรียน, ผู้ปกครอง,ผู้อำนวยการโรงเรียน)
2. เมื่อได้ดูคลิปวิดีโอเรื่องนี้แล้วรู้สึกอย่างไร (ซาบซึ้ง, สงสาร, อยากร้องไห้ ฯลฯ)
3. ผู้เรียนรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ตอนไหนในคลิปวิดีโอเรื่องนี้ เพราะอะไร (ให้ผู้เรียนแบ่งปัน)
4. ผู้เรียนได้รับข้อคิดหรือบทสอนอะไร จากการดูคลิปวิดีโอเรื่องนี้ (ให้ผู้เรียนได้แบ่งปัน)
สรุป ความกตัญญู เป็นคุณธรรมสำคัญที่แสดงถึงการรู้คุณและตอบแทนคุณต่อผู้มีพระคุณ ครูประจักษ์ได้ทำหน้าที่ของการเป็นลูกที่ดี ดูแลมารดาของตนด้วยความรักและกตัญญู ยอมละทิ้งความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ความสุขสบายในการใช้ชีวิต เป็นแบบอย่างให้กับเด็ก ๆในเรื่องความกตัญญูผ่านการชีวิตของตน ทำให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับความกตัญญูนี้ และนำไปปฏิบัติต่อมารดาของเขาแต่ละคนด้วย
คำสอน
1. ผู้เรียนคงเคยได้ยินวาทกรรมที่บอกว่า “พ่อแม่ไม่มีบุญคุณกับลูก” “ลูกไม่ได้ขอมาเกิด” “ลูกที่ดีต้องกตัญญู” ในกระแสโซเชียลเกิดการถกเถียงกันอย่างร้อนแรง โดย “ทีมลูกที่ดีต้องตอบแทนคุณพ่อแม่” ปะทะกับ “ทีมพ่อแม่หยุดทวงบุญคุณลูก” เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมจนบางครั้งก็ถูกโยงไปเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ประเด็นความเท่าเทียมหรือโยงว่าเป็นช่องว่างระหว่างวัย ที่ผู้ใหญ่มองว่าเด็กก้าวร้าว เมื่อเด็กหรือเยาวชนเริ่มถกกันเรื่องแนวคิด “พ่อแม่ไม่มีบุญคุณต่อลูก ประเทศชาติและสถาบันอื่น ๆ” และ “ในสังคมไม่มีบุญคุณกับประชาชน” คุณธรรม “ความกตัญญู” กำลังถูกด้อยค่าและกำลังจะจางหายไป ซึ่งหลายคนมองว่านี่เป็นแนวคิดที่อันตราย ทำลายรากเหง้าของสังคมไทยที่เคยมีมาแต่เดิม
2. หน้าที่ของบุตรตามคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC 2215) คือ ความเคารพนับถือต่อบิดามารดาประกอบด้วย “ความกตัญญูรู้คุณ” ต่อผู้ที่ทำให้บุตรเกิดมาในโลกนี้ ยอมลำบาก ใช้ความรักช่วยให้เขาเจริญเติบโตขึ้นด้วยอายุ ปรีชาญาณและพระหรรษทาน “จงนับถือบิดาสุดจิตสุดใจ จงอย่าลืมว่ามารดาให้กำเนิดท่านด้วยความเจ็บปวด จงระลึกว่าท่านทั้งสองเป็นผู้ให้กำเนิด จะมีสิ่งใดมาตอบแทนบุญคุณนี้ได้” (บสร. 7:27-28).....บุตรที่แสดงความเคารพนับถือบิดามารดา คือการยอมรับการสั่งสอนและการเชื่อฟังจากท่านอย่างแท้จริง (เทียบ CCC 2216)
3. ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เรื่องของ “นางรูธ” เป็นแบบอย่างของผู้มีความกตัญญูต่อมารดาของสามีนางแต่งงานกับบุตรชายของนางนาโอมีได้เพียง 10 ปี สามีของนางได้เสียชีวิตลง นางนาโอมีจึงบอกให้นางรูธกลับไปยังบ้านเกิดของตน แต่นางรูธกลับเลือกที่จะอยู่ดูแลนางนาโอมี ติดตาม รับใช้ เชื่อฟังมารดาของสามีโดยไม่เห็นแก่ความยากลำบากที่ตนเองอาจต้องพบเจอในสถานะของหญิงม่ายและอยู่ต่างบ้านต่างเมือง นางให้คำมั่นต่อนางนางโอมีว่า “...แม่จะไปที่ไหน ดิฉันจะไปที่นั่นด้วย แม่จะอยู่ที่ไหน ดิฉันก็จะอยู่ที่นั่นด้วยประชากรของแม่จะเป็นประชากรของดิฉัน พระเจ้าของแม่จะเป็นพระเจ้าของดิฉันด้วย แม่ตายที่ไหน ดิฉันก็จะตายและถูกฝังที่นั่นด้วย” (นรธ. 1:16-17) แม้นางนาโอมีจะเป็นเพียงมารดาของสามี แต่นางรูธก็รักเสมือนมารดาของตน และด้วยการยึดมั่นในคำสัญญาด้วยใจกตัญญูต่อนางนาโอมีและการดำเนินชีวิตอย่างดีงามต่อผู้อื่น พระเจ้าจึงทรงอวยพรให้นางได้พบเจอกับสิ่งที่ดี และได้ร่วมในแผนการของพระเจ้า โดยได้แต่งงานกับโบอาสและให้กำเนิดบุตรชายชื่อโอเบด ซึ่งเป็นบิดาของเจสซี ต้นตระกูลของกษัตริย์ดาวิด
4. แบบอย่างของนางรูธนี้ ยังเตือนเราให้คิดถึงผู้ที่มีพระคุณต่อเรา โดยเฉพาะ พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย บุคคลในครอบครัวครูบาอาจารย์ เพื่อน ๆ หรือบุคคลที่เคยให้ความช่วยเหลือและใจดีกับเรา เราสามารถแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อท่าน ในฐานะเป็นลูก เป็นหลาน เป็นศิษย์ ด้วยการเคารพเชื่อฟังคำสั่งสอน ไม่ทำให้ท่านเสียใจ ดูแลรับใช้ ช่วยเหลือภาระงานของท่านโดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เช่น ตั้งใจเรียนช่วยทำงานบ้าน ช่วยกิจการของครอบครัว ไปเยี่ยมเยียนพบปะพูดคุย ดูแลท่านในยามเจ็บป่วย คิดถึงและภาวนาให้ท่านอยู่เสมอ เป็นต้น
5. บุคคลสำคัญที่มีพระคุณต่อเรามากที่สุด ก็คือพระเจ้า พระองค์ประทานชีวิตและสิ่งสร้างต่าง ๆ เพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวัน เราจึงต้องมีความกตัญญูต่อพระองค์ด้วยการเป็นคริสตชนที่ดี สวดภาวนา สรรเสริญพระเจ้า ไปวัดร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ รับศีลอภัยบาปรับศีลมหาสนิทบ่อย ๆ และต้องช่วยกันดูแลรักษาสิ่งสร้างต่าง ๆ ไม่ทำลายและใช้อย่างรู้คุณค่ามากที่สุด
ก. ข้อควรจำ
1. ความกตัญญูกตเวที คือ การรู้คุณ ระลึกถึงพระคุณของท่าน และตอบแทนบุญคุณของผู้มีพระคุณ
2. หน้าที่ของบุตร คือการเคารพนับถือต่อบิดามารดา ซึ่งสามารถแสดงออกโดยการยอมรับการสั่งสอนและการเชื่อฟังจากท่านอย่างแท้จริง (เทียบ CCC 2216)
3. นางรูธเป็นแบบอย่างแก่เราในความกตัญญู โดยติดตาม รับใช้ เชื่อฟังมารดาของสามี โดยไม่เห็นแก่ความยากลำบาก
4. เราสามารถแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย และบรรดาบุคคลต่าง ๆ ซึ่งมีพระคุณต่อเราด้วยการเคารพเชื่อฟังคำสั่งสอน ไม่ทำให้ท่านเสียใจ ดูแลและช่วยแบ่งเบาภาระของท่านในสิ่งที่สามารถทำได้
5. เราแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อพระเจ้าโดยการเป็นคริสตชนที่ดี สวดภาวนา ไปวัดร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณแก้บาปรับศีลมหาสนิทบ่อย ๆ ดูแลรักษาสิ่งสร้างต่าง ๆ ไม่ทำลายและใช้อย่างรู้คุณค่ามากที่สุด
ข. กิจกรรม ชมคลิปวิดีโอและร้องเพลง “อิ่มอุ่น” (ศุ บุญเลี้ยง)
ดำเนินการ
1. ให้ผู้เรียนชมคลิปวิดิีโอและร้องเพลง อิ่มอุ่น-We Kid Thailand เด็กร้องก้องโลก (เวลา 5:14 นาที) ช่อง Workpoint Official
เนื้อเพลง อิ่มอุ่น
อุ่นใด ๆ โลกนี้มิมีเทียบเทียม อุ่นอกอ้อมแขน อ้อมกอดแม่ตระกอง
รักเจ้าจึงปลูก รักลูกแม่ย่อมห่วงใย ไม่อยากจากไปไกล แม้เพียงครึ่งวัน
* ให้กายเราใกล้กัน ให้ดวงตาใกล้ตา ให้ดวงใจ เราสองเชื่อมโยงผูกพันธ์
อิ่มใด ๆ โลกนี้มิมีเทียบเทียม อิ่มอกอิ่มใจ อิ่มรักลูกหลับนอน
น้ำนมจากอก อาหารของความอาทร แม่พร่ำเตือนพร่ำสอนสอนสั่ง
** ให้เจ้าเป็นเด็กดี ให้เจ้ามีพลัง ให้เจ้าเป็นความหวังของแม่ต่อไป
ใช่เพียงอิ่มท้องที่ลูกร่ำร้อง เพราะต้องการไออุ่น อุ่นไอรักอุ่นละมุน
ขอน้ำนมอุ่นจากอกให้ลูกดื่มกิน
(ซ้ำ */**)
2. ให้ผู้เรียนคิดและบอกข้อตั้งใจ 1 ข้อ กับคุณครูและเพื่อน ๆ ในชั้นว่า “ฉันตั้งใจจะกลับไปทำสิ่งใดให้พ่อแม่หรือบุคคลในครอบครัวมีรอยยิ้มและมีความสุข” โดยให้ผู้สอนเขียนข้อตั้งใจของแต่ละคนไว้บนกระดาน และครั้งต่อไปให้แต่ละคนกลับมาเล่าให้ฟังว่า
2.1 ได้ทำตามข้อตั้งใจหรือไม่
2.2 เมื่อทำแล้วมีความรู้สึกอย่างไร
2.3 ผลจากการกระทำนั้นเป็นอย่างไร
ค. การบ้าน
1. อ่านใบความรู้เรื่องนางรูธเพิ่มเติม
2. ปฏิบัติตามข้อตั้งใจและเตรียมไปเล่าให้คุณครูและเพื่อน ๆ ฟัง
3. สวดภาวนา ไปวัดร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ แก้บาป รับศีลมหาสนิทบ่อย ๆ
4. ดูแลรักษาสิ่งสร้างต่าง ๆ โดยไม่ทำลายและใช้อย่างรู้คุณค่า
::: Download บทเรียนที่ 11 ::
นางรูธ
นางรูธ: ผู้มีใจกตัญญู
(นางรูธ 1-4)
ในสมัยที่บรรดาผู้วินิจฉัยปกครองอิสราเอล เกิดอดอยากกันดารอาหารขึ้นในแผ่นดิน ชายคนหนึ่งจากเมืองเบธเลเฮมในแคว้นยูดาห์ พร้อมกับภรรยาและบุตรชายสองคน เดินทางไปอยู่ในที่ราบโมอับ ชายผู้นี้ชื่อเอลีเมเลค ภรรยาชื่อนาโอมี และบุตรชายทั้งสองคนชื่อมาห์โลนและคิลิโอน เขาเหล่านี้เป็นชาวเอฟราธาห์จากเมืองเบธเลเฮมในแคว้นยูดาห์ เมื่อมาถึงที่ราบโมอับ เขาก็ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นั่น ต่อมาเอลีเมเลคสามีของนางนาโอมีถึงแก่กรรม ทิ้งนางไว้กับบุตรชายสองคน บุตรทั้งสองคนแต่งงานกับหญิงชาวโมอับ คนหนึ่งชื่อโอรปาห์ อีกคนหนึ่งชื่อรูธ เขาอยู่ที่นั่นประมาณสิบปี แล้วมาห์โลนและคิลิโอนก็ถึงแก่กรรมทิ้งนางนาโอมีไว้คนเดียว ไม่มีทั้งบุตรและสามี นางนาโอมีได้ยินว่าพระเจ้าทรงเยี่ยมเยียนประชากรของพระองค์ ประทานอาหารให้เขาอีก จึงเตรียมจะออกจากที่ราบโมอับ นางจึงออกจากสถานที่อยู่พร้อมกับบุตรสะใภ้ทั้งสองคน และขณะที่กำลังเดินทางกลับไปยังแผ่นดินยูดาห์ นางกล่าวแก่บุตรสะใภ้ทั้งสองว่า “ลูกแต่ละคนจงกลับไปบ้านมารดาของลูกเถิด ขอพระเจ้าทรงสำแดงความรักมั่นคงต่อลูกทั้งสองคน เหมือนกับที่ลูกเคยแสดงต่อแม่และต่อสามีที่ล่วงลับไปแล้วเถิด ขอพระเจ้าโปรดให้ลูกแต่ละคนได้สามีใหม่และมีความสุขในครอบครัวเถิด” แล้วนาโอมีก็จูบลาบุตรสะใภ้ นางโอรปาห์ก็จูบลามารดาของสามีและกลับไป แต่นางรูธไม่ยอมพรากจากเธอกล่าวว่า “แม่อย่าเร่งรัดให้ดิฉันละทิ้งแม่ หรือห้ามดิฉันไม่ให้ไปกับแม่เลย แม่จะไปที่ไหน ดิฉันจะไปที่นั่นด้วย แม่จะอยู่ที่ไหน ดิฉันก็จะอยู่ที่นั่นด้วยประชากรของแม่จะเป็นประชากรของดิฉัน พระเจ้าของแม่จะเป็นพระเจ้าของดิฉันด้วย แม่ตายที่ไหนดิฉันก็จะตายและถูกฝังที่นั่นด้วย ขอพระเจ้าทรงลงโทษดิฉันตามที่ทรงเห็นควรเถิด ถ้าดิฉันยอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดนอกจากความตายมาพรากดิฉันไปจากแม่”เมื่อนางนาโอมีเห็นว่าบุตรสะใภ้ตั้งใจเด็ดเดี่ยวจะไปกับนางจึงไม่พูดอะไรอีก ทั้งสองคนเดินทางต่อไปจนมาถึงเมืองเบธเลเฮมต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์
นางนาโอมีมีญาติคนหนึ่งชื่อโบอาส จากตระกูลของเอลีเมเลคสามี เป็นคนมั่งคั่ง มีเกียรติ วันหนึ่งนางรูธออกไปเก็บเกี่ยวข้าวที่คนเกี่ยวข้าวทำตกไว้ในทุ่งนาของคนใจดี และบังเอิญไปเก็บในทุ่งนาของโบอาสจากตระกูลของเอลีเมเลค เมื่อโบอาสเห็นนางรูธจึงถามผู้รับใช้ที่เป็นหัวหน้าคนเกี่ยวข้าวว่า “หญิงสาวคนนี้เป็นใคร” เขาตอบว่า “เธอเป็นหญิงชาวโมอับ มาจากแผ่นดินโมอับกับนางนาโอมี โบอาสบอกกับนางรูธว่าให้อยู่กับคนงานหญิงของเขาและเก็บข้าวที่ตกในนานี้ อย่าไปเก็บข้าวที่ตกในนาอื่น คอยดูว่าเขาเกี่ยวข้าวที่ไหนก็ให้เดินตามไป และสั่งห้ามคนงานชายไม่ให้มารบกวนเธอ เหตุที่โบอาสใจดีกับนางรูธเพราะว่ามีคนเล่าให้เขาฟังว่า แม้สามีของนางจะถึงแก่กรรมไปแล้ว นางก็ไม่ยอมกลับไปบ้านเกิด แต่คอยดูแลและปฏิบัติแม่สามีอย่างดี
โบอาสได้ขอให้พระเจ้าแห่งอิสราเอลตอบแทนการกระทำของเธอ ซึ่งเธอมาขอการปกป้องคุ้มครองจากพระองค์ วันนั้น นางรูธจึงเก็บข้าวตกในนาจนถึงเย็น แล้วนำข้าวที่เก็บได้นั้นมาฟาด ได้ข้าวบาร์เลย์ประมาณสองถัง นางนำข้าวตกที่เก็บได้ไปให้มารดาสามีดูว่านางเก็บมาได้เท่าไร แล้วยังเอาอาหารเหลือที่เก็บไว้ออกมาให้มารดาสามีด้วย นางรูธเล่าให้มารดาสามีฟังว่านางไปทำงานในนาของโบอาส นาโอมีจึงบอกว่า “ชายผู้นี้เป็นญาติสนิทของเรา เป็นผู้หนึ่งซึ่งมีสิทธิหน้าที่ปกป้องเรา... ดีแล้วที่ลูกไปอยู่กับคนงานหญิงของเขา ถ้าไปเก็บในทุ่งนาของผู้อื่นลูกอาจถูกรบกวนก็ได้” ดังนั้น นางรูธจึงเก็บข้าวตกอยู่กับคนงานหญิงของโบอาส จนเขาเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีเสร็จสิ้น นางอยู่กับมารดาสามีต่อไป
นางนาโอมีต้องการหาสามีใหม่ให้ลูกสะใภ้ เพื่อจะได้มีความสุขในครอบครัว นางคิดถึงโบอาสจึงบอกนางรูธว่า “ค่ำนี้เขาจะนวดข้าวบาร์เลย์ที่ลานนวด ลูกจงอาบน้ำ ใส่น้ำหอม สวมเสื้อคลุมแล้วไปที่ลานนวดข้าว แต่อย่าให้เขารู้ว่าลูกอยู่ที่นั่น จงคอยจนกว่าเขาจะกินและดื่มเสร็จ เมื่อเขาล้มตัวลงนอน จงสังเกตให้ดีว่าเขานอนอยู่ที่ไหน จงไปเปิดผ้าห่มที่เท้าของเขาขึ้นแล้วนอนลงที่นั่น เขาจะเป็นผู้บอกลูกเองว่าต้องทำอย่างไร”นางรูธตอบว่า “ลูกจะทำตามที่แม่บอกทุกอย่าง” นางจึงไปที่ลานนวดข้าว ทำตามที่นางนาโอมีบอกทุกประการ เมื่อโบอาสกินและดื่มเสร็จ ก็มีอารมณ์ดี ไปนอนข้างกองข้าวบาร์เลย์ นางรูธย่องตามไปเงียบ ๆ เปิดผ้าห่มที่เท้าของเขาขึ้นแล้วนอนลงที่นั่น
ตกดึก โบอาสตกใจตื่นพลิกตัว เห็นหญิงคนหนึ่งนอนอยู่ที่เท้าจึงถามว่า “เธอเป็นใคร” นางตอบว่า“ดิฉันคือรูธ ผู้รับใช้ของท่านค่ะ ท่านเป็นญาติสนิท จงใช้สิทธินี้แต่งงานเพื่อปกป้องดิฉันเถิด” โบอาสกล่าวว่า “ลูกเอ๋ย ขอพระเจ้าทรงอวยพรเธอเถิด การที่เธอทำอยู่ขณะนี้ แสดงความรักมั่นคงต่อครอบครัวยิ่งกว่าที่เธอปฏิบัติต่อมารดาสามีเสียอีก เพราะเธอไม่ได้ไปหาคนหนุ่ม ไม่ว่ายากจนหรือร่ำรวย ลูกเอ๋ย อย่ากลัวเลย ฉันจะทำตามที่เธอขอทุกอย่าง
ทุกคนในเมืองรู้ว่าเธอเป็นหญิงดี ฉันเป็นญาติสนิทมีสิทธิหน้าที่ปกป้องเธอก็จริง แต่ยังมีอีกคนหนึ่งที่เป็นญาติสนิทยิ่งกว่าฉัน จงนอนอยู่ที่นี่ตลอดคืนเถิด ถ้าพรุ่งนี้เช้าเขาต้องการใช้สิทธิแต่งงานปกป้องเธอก็ดีแล้ว แต่ถ้าเขาไม่ต้องการ ฉันขอสาบานว่าพระเจ้าทรงพระชนม์อยู่ฉันใด ฉันจะทำหน้าที่แต่งงานปกป้องเธอเอง ที่สุดโบอาสจึงรับนางรูธมาเป็นภรรยา เขาหลับนอนกับนาง และพระเจ้าโปรดให้นางตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง บรรดาสตรีกล่าวแก่นางนาโอมีว่า “ขอถวายพระพรแด่พระเจ้าเถิด วันนี้พระองค์ประทานหลานชายคนหนึ่งแก่ท่าน เพื่อปกป้องท่าน ขอให้เขามีชื่อเสียงในอิสราเอลเถิด เขาจะทำให้ท่านมีชีวิตสดชื่น และจะค้ำจุนท่านในวัยชรา บุตรสะใภ้ที่ให้กำเนิดเด็กนี้รักท่าน และมีค่าต่อท่านมากกว่าบุตรเจ็ดคน” นางนาโอมีรับเด็กนี้มาอุ้มไว้แนบอกและเลี้ยงดูเขา