ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

6 เหตุผลทำไมเราจึงทำเครื่องหมายกางเขน
6 เหตุผลทำไมเราจึงทำเครื่องหมายกางเขน

(Six Reasons Why We Make the Sign of the Cross)

           ชาวคาทอลิกมักจะทำเครื่องหมายกางเขนในหลาย ๆ โอกาสซึ่งเป็นการกระทำหรือการแสดงออกที่งดงามเพื่อเริ่มต้นและสิ้นสุดการภาวนา เมื่อเราได้เรียนรู้เรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากจะทำให้บ่อยยิ่งขึ้นเพราะการทำด้วยความเชื่อและความเคารพจะก่อให้เกิดพระคุณอันยิ่งใหญ่แก่ชีวิตคริสตชนของเรา เราจะเข้าใจความหมายชีวิตคริสตชนได้ดีขึ้น เราจะทำโดยมีสติรู้ตัวมากขึ้น ทำให้เราสามารถเอาชนะการประจญหรือการยึดติดในการกระทำที่ไม่ดีต่าง ๆ ของเราได้และสามารถติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยความมีน้ำใจมากขึ้นได้

          เครื่องหมายกางเขนไม่ได้เป็นเพียงการกระทำเพื่อแสดงความศรัทธาเท่านั้น แต่ยังเป็นการภาวนาที่ทรงอานุภาพและยังเป็นสิ่งคล้ายศีลของพระศาสนจักรคาทอลิกอีกด้วย
          พระคัมภีร์ บรรดาปิตาจารย์และบรรดานักบุญ และคำสอนคาทอลิกได้ให้เหตุผล 6 ประการสำหรับการทำเครื่องหมายกางเขนซึ่งแสดงให้รู้ว่าการทำเครื่องหมายกางเขนนี้ทำให้ตัวของเราเปิดรับพระหรรษาทานอย่างอุดม เมื่อเราเข้าใจเราก็สามารถทำเครื่องหมายนี้ด้วยความเชื่อมากยิ่งขึ้นและจะได้รับพระพรมากยิ่งขึ้น

เหตุผล 6 ประการทำไมจึงทำเครื่องหมายกางเขน

1. คือบทย่อของบทข้าพเจ้าเชื่อ
           เครื่องหมายกางเขนเป็นการประกาศความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์เองทรงเปิดเผยให้เราทราบ เป็นบทย่อของบทสัญลักษณ์ของอัครสาวก
           การแตะที่หน้าผาก หน้าอก และไหล่ (บางวัฒนธรรมที่ริมฝีปากด้วย) เป็นการประกาศความเชื่อในพระบิดา พระบุตร และพระจิต เรากำลังประกาศถึงสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกระทำ คือ การสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง การไถ่กู้มนุษยชาติให้พ้นจากโทษของบาปและความตาย และการจัดตั้งพระศาสนจักรซึ่งนำชีวิตใหม่มาให้เราทุกคน
          เมื่อเราทำเครื่องหมายกางเขนเรากำลังปลุกตนเองให้สำนึกว่าพระเจ้าประทับอยู่กับเราและเป็นการเปิดตัวเราเองให้พระเจ้าทรงทำงานโดยผ่านทางตัวเรา
          นี่เป็นเรื่องเดียวที่ทำให้เราได้เปลี่ยนแปลงชีวิตจิตของเราเองแล้วหรือ เปล่าเลย ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีก

2. คือการรื้อฟื้นศีลล้างบาป
         ในศตวรรษแรก ๆ บรรดาคริสตชนเริ่มทำเครื่องหมายกางเขนเพื่อเป็นการระลึกถึงและรื้อฟื้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเมื่อได้รับศีลล้างบาป ซึ่งก็ยังคงเป็นเช่นเดียวกันกับเราในเวลานี้
เมื่อเราทำเครื่องหมายกางเขนเรากำลังประกาศว่าในศีลล้างบาปเราได้ตายพร้อมกับพระคริสต์เจ้าบนไม้กางเขนและได้กลับฟื้นคืนชีพสู่ชีวิตใหม่กับพระองค์ (อ่าน โรม 6:3-4 และกาลาเทีย 2:20) เรากำลังวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ทรงรื้อฟื้นพระพรแห่งศีลล้างบาปในตัวของเรา
          เรายังได้รับรู้ว่าศีลล้างบาปเชื่อมโยงเรากับพระกายของพระคริสต์เจ้าและทำให้เรามีบทบาทในฐานะผู้ร่วมมือกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในงานกอบกู้มนุษย์ทุกคนให้รอดพ้นจากบาปและความตาย

3. คือเครื่องหมายการเป็นสานุศิษย์
           ในศีลล้างบาปองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกร้องเราให้เป็นของพระองค์โดยประทับตราเราด้วยเครื่องหมายกางเขน ดังนั้น เมื่อเราทำเครื่องหมายกางเขนครั้งใด เราก็ได้ยืนยันความจงรักภักดีต่อพระองค์ การทำเครื่องหมายกางเขนบนร่างกายของเราก็เท่ากับเรากำลังปฏิเสธว่าเราเป็นเจ้าของตนเองแต่กำลังประกาศว่าเราเป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าแต่ผู้เดียวเท่านั้น (อ่าน ลูกา 9:23)

            บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรได้ใช้คำพูดเดียวกันสำหรับเครื่องหมายกางเขนเพื่อบ่งบอกว่าคนงานในสมัยนั้นมีใครเป็นเจ้าของ เช่นเดียวกับเครื่องหมายในตัวลูกแกะ รหัสลับในตัวของทหาร เครื่องหมายของคนรับใช้ในบ้านเจ้านาย และตราประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้าในตัวของสานุศิษย์ของพระองค์

           การทำเครื่องหมายยังเตือนใจเราว่าเราเป็นลูกแกะของพระคริสต์เจ้าและนับเข้าอยู่ในความคุ้มครองของพระองค์ เป็นทหารของพระองค์ ได้รับมอบหมายให้ร่วมงานกับพระองค์ในการขยายพระอาณาจักรของพระองค์ในโลกนี้ และเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ที่พร้อมจะทำอะไรก็ตามที่พระองค์ทรงบอกเรา

4. คือการยอมรับความทุกข์ทรมาน
           พระเยซูทรงสัญญากับเราว่าความทุกข์ยากลำบากจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของศิษย์พระคริสต์ (อ่าน ลูกา 9:23-24) ดังนั้นเมื่อเราทำเครื่องหมายกางเขนครั้งใดก็เท่ากับว่าเรากำลังยอมรับความทุกข์ยากลำบากทุกอย่างที่จะตามมาอันเนื่องมาจากความเชื่อของเราในพระคริสต์ การทำเครื่องหมายกางเขนคือการยอมแบกกางเขนแล้วติดตามพระองค์ไป (ลูกา 9:23)

           ในเวลาเดียวกันยังเป็นการปลอบใจเราว่าพระเยซูเจ้าที่ทรงสู้ทนเจ็บปวดบนไม้กางเขนเพื่อเรานั้นกำลังร่วมทุกข์และหนุนใจเราอยู่เสมอ
            การทำเครื่องหมายกางเขนยังเป็นการประกาศถึงความจริงที่สำคัญอื่น ๆ อีก เช่น ที่นักบุญเปาโลสอนว่าเรากำลังเฉลิมฉลองว่าความทุกข์ยากของเราในฐานะที่เป็นสมาชิกแห่งพระกายของพระคริสต์ คือการเข้ามีส่วนร่วมกับงานการช่วยทำให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์ (โคโลสี 1:24)

5. ดาบสองคมเพื่อต่อสู้กับปีศาจ

            เมื่อปีศาจได้เฝ้าดูพระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พวกมันเชื่ออย่างผิด ๆ ว่าพวกมันได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่แล้ว แต่เปล่าเลย ตรงกันข้ามองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้พวกมันต้องแปลกประหลาดใจในความโง่เขลานั้น (โครินธ์ 2:8) ตั้งแต่เช้าวันปัสกาครั้งแรกตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เครื่องหมายกางเขนทำให้ปีศาจหวาดกลัวและหนีไป

            ในระดับหนึ่ง กางเขนเป็นเครื่องป้องกันอิทธิพลความชั่วร้ายของปีศาจ แต่ที่สำคัญมากกว่ากางเขนยังเป็นอาวุธร้ายที่ช่วยเราให้เรียกคืนพร้อมกับพระคริสต์เจ้าในทุกสิ่งทุกอย่างที่ปีศาจได้กระทำที่เชิงกางเขนนั้น
การทำเครื่องหมายกางเขนยังเป็นการประกาศถึงความร่วมมือกับพระเยซูเจ้าที่จะไม่ย่อท้อในการทำให้พระอาณาจักรของพระเจ้าเติบโตก้าวหน้าและเอาชนะอาณาจักรแห่งความมืด

6. คือชัยชนะเหนือเนื้อหนัง

           ในพันธสัญญาใหม่ คำว่าเนื้อหนังหมายถึงการยึดติดกับความชั่วร้ายในธรรมชาติเก่าของเราที่ยังหน่วงเหนี่ยวเราแม้ว่าเราจะตายพร้อมกับพระคริสต์ในรับศีลล้างบาปแล้วก็ตาม (กาลาเทีย 5:16-22) การทำเครื่องหมายกางเขนเป็นการแสดงว่าเราได้ตัดสินใจที่จะตรึงความปรารถนาทางร่างกายไว้บนไม้กางเขนและดำเนินชีวิตใหม่โดยพระจิตเจ้า

              เหมือนกับการโยนเสื้อหรือกระโปรงที่สกปรกทิ้งไป การทำเครื่องหมายกางเขนบ่งชี้ว่าเราได้สลัดละทิ้งการยึดติดในความชั่วร้ายต่าง ๆ ของเราและสวมเสื้อใหม่ด้วยการกระทำเช่นเดียวกับพระคริสต์เจ้า (โคโลสี 3:5-15)

             บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรสอนว่าเครื่องหมายกางเขนจะช่วยควบคุมการประจญต่าง ๆ เช่น การโมโหและตัณหา ดังนั้นไม่ว่าเราจะถูกประจญมากมายเพียงใดขอให้เราได้ใช้เครื่องหมายกางเขนเพื่อให้เราเอาชนะและใช้เสรีภาพในพระคริสต์เอาชนะความรู้สึกที่อยากจะทำบาปนั้น

การประยุกต์ความจริงนี้สู่การปฏิบัติ
            เมื่อได้อ่านจบแล้ว ขอให้ท่านจดจำเหตุผลทั้งหกนี้ไว้ในใจของท่านแล้วทำเครื่องหมายกางเขนนี้ 6 ครั้ง โดยแต่ละครั้งให้นึกถึงเหตุผลในแต่ละข้อ
           ครั้งที่หนึ่ง ทำเครื่องหมายการเขนเพื่อประกาศความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า
           ครั้งที่สอง ทำเครื่องหมายกางเขนเพื่อระลึกว่าท่านได้ตายพร้อมกับพระคริสตเจ้าในศีลล้างบาป
           ครั้งที่สาม ทำเครื่องหมายกางเขนเพื่อประกาศตนว่าท่านเป็นของพระคริสตเจ้า เป็นสานุศิษย์และจะนบนอบเชื่อฟังพระองค์
           ครั้งที่สี่ ทำเครื่องหมายกางเขนเพื่อยอมรับความทุกข์ยากลำบากที่จะเกิดขึ้นและเฉลิมฉลองความทุกข์ร่วมกับพระคริสตเจ้าเพื่อพระศาสนจักร
            ครั้งที่ห้า ทำเครื่องหมายกางเขนเพื่อต่อสู้กับปีศาจและเพื่อปกป้องพระอาณาจักรของพระเจ้า
           ท้ายสุด ทำเครื่องหมายกางเขนเพื่อตรึงความรู้สึกนึกคิดทางเนื้อหนังและสวมใส่ชีวิตของพระคริสตเจ้า
           คิดถึงและทำเครื่องหมายกางเขนนี้ในการภาวนาเช้าทุกเช้า และเฝ้าดูพระหรรษทานจะหลั่งไหลลงมายังท่านโดยผ่านสิ่งคล้ายศีลเก่าแก่ที่ได้เรียนรู้นี้
(ข้อมูลจาก https://www.simplycatholic.com/six-reasons-why-we-make-the-sign-of-the-cross/)

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์