ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

ทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ฟัง (Help Your Students Listen)
ทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ฟัง

(Help Your Students Listen)
          ระหว่างที่ฉันกำลังฉายวีดีทัศน์ให้นักเรียนประถมปลายได้ดูกันในห้องคำสอนของโรงเรียน ก็มีเสียงคุยกันในห้อง หลังจากได้พยายามค้นหาต้นเสียงว่าใครคุยกัน ทีแรกฉันคิดว่าคงจะเป็นเด็กหัวโจกของห้อง แต่ฉันกลับพบว่าด้านหลังของนักเรียนนั้นมีพี่เลี้ยงอาสาสมัครสองคนกำลังปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับบทเรียนที่จะต้องสอนต่อจากการชมวีดีทัศน์ แน่ล่ะครูคำสอนจำเป็นต้องเตรียมการสอน แต่เสียงพูดกันเช่นนี้เป็นการรบกวนการฟังของนักเรียนคนอื่น ๆ เหตุการณ์นี้เองทำให้ฉันได้บทเรียนขึ้นมาว่า “ฉันได้ฟังนักเรียนอย่างที่ฉันต้องการให้พวกเขาฟังฉันหรือไม่” ฉันจึงสัญญากับตัวเองว่า “ฉันจะลดการพูดสอนลง 20 เปอร์เซ็นต์ ฉันจะอธิบายให้น้อยลงและรับฟังให้มากขึ้น” ฉันมั่นใจว่านักเรียนของฉันจะเข้าใจและรักพระเยซูเจ้าลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ฉันเริ่มหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อติดกระดุมปากตนเองและเปิดหูให้กว้างขึ้นในการสอนคำสอน ต่อไปนี้คือวิธีที่ฉันคิดได้

ขอความคิดเห็น
          “แล้วพวกท่านล่ะคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?” พระเยซูเจ้ามักจะเริ่มเรื่องเปรียบเทียบโดยการตั้งคำถามว่าศิษย์ของพระองค์คิดอย่างไร นักเรียนโต ๆ ชอบที่แบ่งปันความคิดเห็น การเริ่มต้นการเรียนโดยการเปิดให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นเป็นการสื่อสารที่ดี การถามถึงความสนใจว่าปีนี้อยากเรียนรู้เรื่องอะไร (นี่เป็นเวลาที่ดีที่จะให้พวกเขาได้เขียนคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อที่พวกเขาไม่กล้าถาม) หรือ การเรียนคำสอนปีที่แล้ว มีอะไรบ้างที่เธอประทับใจมากที่สุด ฯลฯ แม้ว่าจะไม่รู้ว่าใครเป็นคนแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะด้วยการเขียนหรือการพูดก็ล้วนแต่มีประโยชน์อย่างมาก

จัดเวลาให้พูด
           ถ้าท่านต้องการให้นักเรียนฟังท่าน ท่านต้องจัด “เวลาคุย” (noise time) ในทุก ๆ แผนการสอนของท่าน เพื่อให้นักเรียนมีอิสระที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กันถึงโครงงานและกิจกรรมที่พวกเขาต้องการ หรืออาจจะตกลงกันว่าเมื่อไรให้พูด และเมื่อไรให้ฟัง

จัดเวลาให้เงียบ
        เช่นเดียวกัน ท่านควรจัดเวลาให้ผู้ฟังได้มีเวลาเงียบเพื่อให้พวกเขาได้มีเวลาไตร่ตรองเรื่องที่พวกเขาได้เรียนรู้หรือฟังจากการอธิบายของท่าน หลังจากที่ท่านได้อธิบายหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเสร็จแล้ว ท่านอาจจะตั้งคำถามเพื่อให้พวกเขาได้ไตร่ตรองส่วนตัว เช่น สาระสำคัญที่ได้เรียนรู้คืออะไร รู้สึกอย่างไรที่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ เรื่องที่ได้เรียนรู้นี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้อย่างไร หลังจากที่พวกเขาได้เงียบไตร่ตรองแล้ว ท่านอาจจะให้พวกเขาจดบันทึก แล้วให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาได้ไตร่ตรองให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ด้วยก็ได้
การให้เวลาเงียบยังเป็นโอกาสให้นักเรียนได้สวดภาวนาส่วนตัวได้ด้วย ท่านอาจจะตั้งคำถามว่า หลังจากได้เรียนรู้เรื่องนี้แล้ว นักเรียนมีอะไรจะบอกกับพระเจ้าบ้าง ให้พวกเขาเงียบ ภาวนาส่วนตัว หรืออาจจะให้เขียนคำภาวนาก็ได้

ประเมินตนเองตลอดเวลา
             เป็นเรื่องปกติที่ผู้ฟังจะประเมินการพูดของท่านตลอดเวลา ในฐานะผู้พูดเราก็มักจะเข้าข้างตนเองว่าเราพูดได้อย่างดี ถูกต้อง มีสาระ มีประโยชน์ และมีอะไรที่จะต้องพูดอีกมากมาย แต่สำหรับผู้ฟังพวกเขาจะรู้สึกเบื่อง่ายและเบื่อเร็ว ดังนั้นเมื่อท่านพูด ขอให้ตาข้างหนึ่งของท่านสังเกตปฏิกิริยาของผู้ฟัง ส่วนตาอีกข้างหนึ่งดูนาฬิกา พยายามพูดให้สั้นกระชับชัดเจน ถ้าผู้ฟังเริ่มอยู่ไม่สุข ท่านต้องหาทางทำอะไรสักอย่างเพื่อดึงความสนใจกลับมา

(ขอบคุณ โครงเรื่องของคอนนี่ คลาร์ก ครูคำสอนประจำ Saint Kilian Catholic Church in Mission Viejo, California) จาก www.catechist.com

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์