ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

บทที่  28 ศีลบรรพชา

จุดมุ่งหมาย     เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจฐานะและบทบาทหน้าที่ของสงฆ์และพร้อมที่จะร่วมมือกับท่านในงานไถ่กู้มนุษย์ชาติ

ขั้นที่ 1  กิจกรรม       ครูเตรียมรูปพระสังฆราช พระสงฆ์บางองค์ในสังฆมณฑล
ถามผู้เรียนว่า
- ใครคือพระสังฆราชของสังฆมณฑลนี้ ? (แสดงรูปพระสังฆราช ซักถามประวัติพอสมควร)
- ใครรู้จักพระสงฆ์องค์ใดในสังฆมณฑลนี้บ้าง ? (แสดงรูปพระสงฆ์ ซักถามประวัติพอสมควร)
- พระสังฆราชทำหน้าที่อะไร ? (ปกครองสังฆมณฑล โปรดศีลกำลัง โปรดศีลบรรพชา ฯลฯ)
- พระสงฆ์ทำหน้าที่อะไร ? (ถวายมิสซา ฟังแก้บาป ปกครองวัด ดูแลโรงเรียน ฯลฯ)

ขั้นที่ 2  วิเคราะห์

         ครูพูดคุยกับผู้เรียนในหัวข้อ
“ก่อนจะมาเป็นพระสังฆราช หรือพระสงฆ์ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ?”
- ผ่านบ้านเณรเล็ก ประมาณ 6 ปี
- ผ่านบ้านเณรกลาง ประมาณ 1 ปี
- ผ่านบ้านเณรใหญ่ ประมาณ 7 ปี
- ผ่านการฝึกงานอภิบาล ประมาณ 2 ปี
แล้วจึงบวชเป็นสังฆานุกร คือ รับศีลบรรพชาชั้นสังฆานุกร
รับการบวชเป็นสงฆ์ คือ รับศีลบรรพชาชั้นสงฆ์ ถ้าเป็นสังฆราชก็
รับการอภิเษก (บวช) เป็นสังฆราช คือ รับศีลบรรพชาชั้นพระสังฆราช

สรุป    กว่าจะมาเป็นพระสังฆราช หรือพระสงฆ์ ต้องผ่านกระขบวนการเตรียมตัวที่เข้มข้นและยาวนาน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องผ่านการบวช หรือศีลบรรพชา

ขั้นที่ 3  คำสอน

       1. ศีลบรรพชา คือศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อประทานอำนาจหน้าที่เทศน์สอน โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์และปกครองให้แก่บุคคลบางคนที่เหมาะสม เพื่ออภิบาลดูและสัตบุรุษ
           พระเยซูทรงตั้งศีลบรรพชาพร้อมๆกับศีลมหาสนิท ในขณะที่กำลังรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย คือหลังจากที่พระองค์ทรงตั้งศีลมหสนิทแล้ว ก็ตรัสว่า “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (ลก. 22,19) แสดงถึงน้ำพระทัยของพระองค์ที่ประสงค์จะให้อัครสาวกกระทำพิธีศีลมหาสนิทสืบต่อไป เท่ากับทรงแต่งตั้งอัครสาวกเป็นพระสงฆ์ มีอำนาจหน้าที่ถวายมิสซานั่นเอง

       2. อำนาจหน้าที่ของผู้ที่ได้รับศีลบรรพชาก็แตกต่างกันไปตามขั้น คือ
ก. สังฆานุกร มีอำนาจเทศน์สอน แจกศีลมหาสนิท เป็นประธานในพิธีกรรม เช่น พิธีฝังศพ และโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์บางประการได้ คือ ศีลล้างบาป ศีลสมรส
ข. พระสงฆ์ มีอำนาจโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ยกเว้นศีลบรรพชา ถวายมิสซา เทศน์ และปกครองสัตบุรุษในเขตวัดของตน
ค. พระสังฆราช ได้รับศีลบรรพชาชั้นสมบูรณ์ จึงมีอำนาจเต็มที่จะโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการ เทศน์และปกครองสังฆมณฑล
กล่าวโดยรวมแล้ว อำนาจหน้าที่ของผู้รับศีลบรรพชาแบ่งใหญ่ๆได้เป็น 3 ประการ คือ

         1) เทศน์สั่งสอน (ประการศก)
         2) โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ (สงฆ์)
         3) ปกครองสัตบุรุษ (กษัตริย์)

        3. พระเยซูคริสต์ประทานอำนาจหน้าที่ให้แก่ผู้รับศีลบรรพชามิใช่ให้ใช้อำนาจนั้นบังคับบัญชา หรือตั้งตนอยู่เหนือผู้อื่น แต่พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดในพวกท่านเป็นใหญ่สุด ในผู้นั้นเป็นเหมือนผู้น้อยที่สุด และผู้ใดเป็นนาย ก็ให้ผู้นั้นเป็นเหมือนผู้รับใช้” (ลก. 22,26) พระองค์เองทรงประพฤติเป็นแบบอย่าง คือ “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ใครปรนบัติรับใช้ แต่มาเพื่อปรนนิบัติรับใช้ผู้อื่นและประทานชีวิตเป็นค่าไถ่ของคนจำนวนมาก” (มธ. 20,28) พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร จึงอยู่เพื่อรับใช้ผู้อื่น เมื่อเห็นดังนี้เราจึงควรซึ้งในอุดมการณ์และความเสียสละของท่านเหล่านั้น และพยายามสนับสนุน ส่งเสริมให้ความร่วมมือในทุกวิถีทางเพื่อให้งานรับใช้ของท่านได้เกิดผล ส่งเสริมให้ความร่วมมือในทุกวิถีทางเพื่อให้งานรับใช้ของท่านได้เกิดผล ซึ่งก็เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง และพระศาสนจักรโดยส่วนรวม

         4. “ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย เพระฉะนั้นพวกท่านจงอ้อนวอนพระองค์ทรงเป็นเจ้าของนาให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวพืชผลของพระองค์ (มธ. 9,37 – 38) นั้นคือหน้าที่ของเราคริสต์ชนที่ต้องสนับสนุนกระแสเรียกสงฆ์ให้มากๆ โดยเฉพาะในยุคของเรานี้กระแสเรียกกำลังลดลงอยู่เรื่อยๆ ในบางประเทศกำลังขาดแคลนคนงาน คือพระสงฆ์อย่างหนัก เราจะส่งเสริมกระแสเรียกสงฆ์ได้โดย สวดภาวนาอ้อนวอนพระเป็นเจ้าโดยโปรดดลใจเยาวชนให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการเป็นสงฆ์ และยินดีอุทิศตนมารับใช้ประชาชนในฐานะสงฆ์ให้มากขึ้น นอกจากนั้นก็ให้ครอบครัวคริสตชนทั้งหลายตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนในอันที่จะอบรมบ่มนิสัยบุตรหลานให้เป็นผู้เหมาะสมที่จะรับเรียก และรับเลือกจากพระเป็นเจ้าให้มาเป็นสงฆ์ของพระองค์ เพราะครอบครัวที่ดีเป็นบ่อเกิดของกระแสเรียก

 ขั้นที่ 4  ปฏิบัติ

  • ข้อควรจำ
    1. ศีลบรรพชา คือศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงตั้งขึ้น เพื่อประทานอำนาจหน้าที่เทศน์สอน โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ และปกครองสัตบุรุษ ให้แก่บุคคลบางคนที่เหมาะสม
    2. อำนาจหน้าที่สงฆ์มีไว้เพื่ออภิบาลรับใช้ประชากรของพระเป็นเจ้า
    3. “จงสวดภาวนาขอพระเป็นเจ้าให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวพืชผลในงานของพระองค์” (มธ. 9,37)
    4. ครอบครัวที่ดีเป็นบ่อเกิดของกระแสเรียก
  • กิจกรรม ร้องเพลง “สดุดีพระสงฆ์”
    สดุดีพระสงฆ์
    1. ศรีสวัสดิ์แด่ท่านผู้มีบุญ สืบสกุลแมลคีเซแดกซ์ใหญ่
    เทพเทวาและมนุษย์สุดแทนไตร ตางชื่นชมอวยชัยให้เจริญ
    2. ท่านนั้นหรือคือสงฆ์นิรันดร ท่านคือสงฆ์ศักดิ์สิทธิกรควรสรรเสริญ
    ท่านคือสงฆ์ผู้แทนได้รับเชิญ ท่านคือผู้เทิดเทินคริสต์ราชา
    3. พระจอมเทพอาทรท่านห่อนทุกข์ เกษมสุขเพราพระคุ้มอารักขา
    ท่านคือแมลคีเซแดกซ์ที่กลับมา โปรดเมตตาเพศสมณะที่ประทาน
    4. ท่านคือผู้ศักดิ์สิทธิ์มีจิตมั่น ท่านเป็นสงฆ์ชั่วนิรันดร์อันสุขศานต์
    โปรดภาวนาเพื่อเราช่วยเอาการ เราจะได้เหมือนท่านบารมี

    การบ้าน เยี่ยมบ้านเณร  สัมภาษณ์เณร    สัมผัสชีวิตเณร

เนื้อหาและบทเรียน