ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

บทที่  24 ศีลกำลัง

จุดมุ่งหมาย      เพื่อให้ผู้เรียนรื้อฟื้นประสบการณ์ของศีลกำลังที่ได้รับ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ และลงมือปฏิบัติตามพันธะของศีลนี้อย่างขะมักเขมนยิ่งขึ้น

ขั้นที่ 1  กิจกรรม
        ครูเล่าเรื่องเปรียบเทียบต่อไปนี้ให้ผู้เรียนฟัง
เศรษฐีผู้มั่งคั่ง
       เศรษฐีคนหนึ่งมีเงินทอง ทรัพย์สมบัติ เรือกสวนไร่นาตลอดจนข้าทาสบริวารมากมาย มีคฤหาสน์ใหญ่โตราคาหลายสิบล้านบาท วันๆ หนึ่งเขาแทบจะไม่ต้องกระดุกกระดิกทำอะไรเลยเพราะมีคนคอยปรนเปรอให้ทุกอย่าง เขารู้สึกมีความสุขเหมือนกับอยู่ในสวรรค์วิมาน เฝ้ารำพึงรำพันอยู่เสมอว่า “ฉันชั่งโชคดีจริงหนอ เกิดมาอีกสิบชาติขอให้มีวาสนาเช่นนี้อีกเถิด”
        และแล้วเศรษฐีคนนี้ก็มีวาสนาสมใจนึก เขาเกิดเป็นอัมพาตอย่างกะทันหัน จะขยับเขยื้อนเดินเหินไปไหนก็ไม่ได้ เขาเสียเงินเสียทองมากมายก่ายกองเพื่อเสาะหาหมอที่เก่งๆมาเยียวยารักษา แต่ก็ไม่มีหมอคนไหนสามารถรักษาเขาให้หายได้ สวรรค์บนกองเงินกองทองของเขาก็สิ้นสุดลงพร้อมๆกับสุขภาพเรี่ยวแรงที่ลดถอยลงไปเรื่อย และในที่สุดเขาก็ตาบนกองเงินกองทองนั้น
ยาจกผู้แข็งแรง (ภาพประกอบ)
        กระทาชายผู้หนึ่ง เป็นคนอยากจน มีที่ดินแค่กระผีกเดียวที่เขาปลูกกระท่อมอาศัยอยู่ เขาต้องทำงานรับจ้างเพื่อเอาเงินมายังชีพไปวันๆ แต่เขาเป็นคนขยันขันแข็ง รักการรักงาน ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำด้วยความเบิกบานยินดี เขาจึงเป็นคนมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ว่องไว กระฉับกระเฉง มีจิตใจร่าเริงแจ่มใส เขาพูดกับตัวเองเสมอว่า “ฉันโชคดีที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำการทำงาน เดินเหินไปมาได้แคล่วคล่องว่องไว แม้ฉันจะยากจน แต่สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงนั้นสำคัญกว่า ฉันอยากเป็นอย่างนี้ดีกว่าร่ำรวยมีเงินมีทองแล้วเป็นคนขี้โรค”

ขั้นที่ 2  วิเคราะห์

ครูถามความรู้สึกของผู้เรียนต่อบุคคลในเรื่องนี้
- รู้สึกอย่างไรต่อเศรษฐีผู้มั่งคั่ง ? ทำไม
- รู้สึกอย่างไรต่อยาจกผู้แข็งแรง ? ทำไม
- ผู้เรียนอยากเป็นเช่นใคร ? ทำไม

สรุป     สุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง เป็นทรัพย์อันประเสริฐยิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ ในโลก สมตามพุทธภาษิตที่ว่า  “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ"

ขั้นที่ 3  คำสอน

        1. “จิตที่ปลอดโปร่งย่อมอยู่ในกายที่ปลอดโรค” นี่คือภาษิตละติน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญสุขภาพจิตและสุขภาพกาย พระเยซูคริสต์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญประการนี้จึงทรงตั้งศีลกำลังขึ้น เพื่อประทานสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงให้แก่เรา นั่นคือ สุขภาพฝ่ายวิญญาณ ซึ่งจะส่งผลไปถึงสุขภาพฝ่ายกายด้วย ชีวิตฝ่ายวิญญาณที่เริ่มต้นในศีลล้างบาปจำเป็นจะต้องเติบโตแข็งแรงด้วยพละกำลังที่มาเสริมนำ เพื่อให้ยืนหยัดต่อสู้ความยากลำบากและเภทภัยต่างๆในชีวิตได้ พละกำลังนี้ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง หรืสมบัติของโลกบันดาลให้ได้ นอกจากพะผู้ทรงเป็นองค์พลังยิ่งใหญ่ คือ พระจิต

        2. ศีลกำลังจึงได้แก่ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงตั้งขึ้นเพื่อประทานพระจิต ซึ่งเป็นองค์ประทานพระจิต ซึ่งเป็นองค์พลัง ทำให้เราเติบโตเข้มแข็ง สมเป็นทหารของพระเยซูคริสต์
           ตัวอย่างของอัครสาวก ซึ่งแต่เดิมเป็นคนอ่อนเชิงทั้งในด้านสติปัญญาความรู้และความกล้าหายชาญชัย แต่พอพวกเขาได้รับพระจิตพวกเขาก็กลับเป็นคนละคน มีสติปัญญารอบรู้แตกฉานในพระธรรมคำสอน มีความกล้าหาญประดุจสิงโต ออกไปประกาศพระนามของพระเยซูคริสต์โดยไม่หวั่นหวาดต่ออันตรายใดๆ ทั้งสิ้น จนที่สุดทุกองค์ก็ได้พลีชีวิตเป็นมรณสักขีกันถ้วนหน้า (เทียบ กจ. 2,1-13)
ดูตัวอย่างของสเตเฟน สังฆานุกรและมรณสักขีองค์แรกของพระศาสนจักร ซึ่งได้รับพระจิตโดยการปกมือของอัครสาวก ได้ออกประกาศพระศาสนาและปะทะคารมกับสงฆ์ผู้ใหญ่ของชาวยิวอย่างดุเดือด จนกระทั่งถูกรุมทำร้ายด้วยก้อนหินถึงแก่ความตาย (เทียบ กจ. 6,5-6 และ 54-60)

         3. นอกจากสุขภาพฝ่ายวิญญาณ ซึ่งเป็นพระหรรษทานของศีลกำลังแล้ว พระจิตประทานความช่วยเหลือในรูปของพระคุณฝ่ายวิญญาณด้วย เราเรียกว่า “พระคุณ 7 ประการ” ได้แก่
1) ปรีชาญาณ ทำให้เรารู้ซึ้งถึงองค์พระเป็นเจ้า ตีคุณค่าต่างๆในทัศนะของพระองค์
2) สติปัญญา ทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่เราเชื่อและปฏิบัติ เข้าใจพระคัมภีร์สามารถถ่ายทอดได้
3) ความรู้ ทำให้เรารู้ความจริงเกี่ยวกับศาสนาดีขึ้น
4) ความศรัทธา ทำให้เรารักพระเป็นเจ้าเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชอบกิจศรัทธา เช่น มิสซา สวดภาวนา
5) ความยำเกรงพระ ทำให้เราเคารพพระเป็นเจ้า เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่กล้าทำผิด
6) ความคิดอ่าน ทำให้เราตัดสินใจถูกต้อง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ในการปรนนิบัติพระเป็นเจ้า
7) พละกำลัง ทำให้เรามีพละกำลังต่อสู้ความชั่ว มีความเสียสละและมั่งคงในการปฏิบัติหน้าที่

          4. พิธีศีลกำลังจะเริ่มด้วยการรื้อฟื้นการปฏิญาณเมื่อรับศีลล้างบาปที่จะละทิ้งปีศาจ และยึดพระเป็นเจ้าเป็นสรณะแต่เพียงผู้เดียว แสดงว่าศีลล้างบาปและศีลกำลังเป็นศีล “ฝาแฝด” คือ ศีลล้างบาปเป็นการเกิด และศีลกำลังเป็นการเจริญเติบโตสู่วัยคริสตชนที่สมบูรณ์
               พิธีที่เป็นหัวใจของศีลกำลังคือ การเจิมน้ำมันคริสมาที่หน้าผากผู้รับศีล และการปกมือเหนือศีรษะพร้อมกับกล่าววาจาว่า “จงรับเครื่องหมายพระจิตเจ้าซึ่งพระบิดาประทานให้”
               ส่วนผู้โปรดศีลกำลังตามปกติคือ พระสังฆราช แต่ในกรณีพิเศษและจำเป็นบางกรณีพระสังฆราชอาจมอบหมายให้พระสงฆ์เป็นผู้โปรดแทนก็ได้

5 . ในส่วนของผู้รับศีลกำลัง จะต้องให้ความร่วมมือเพื่อสามารถรับผลของศีลกำลังได้อย่างเต็มที่ โดยกระทำคนให้อยู่ในสถานะพระหรรษทาน มีการเตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้าด้วยการเรียนคำสอน สวดภาวนา และฝึกฝนคุณธรรมเป็นพื้นฐานของพระหรรษทานและพระคุณที่นำไปสู่การเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณให้มากที่สุด

ขั้นที่ 4  ปฏิบัติ

  • ข้อควรจำ
    1. ศีลกำลังคือศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงตั้งขึ้น เพื่อประทานพระจิตซึ่งเป็นองค์พลัง
    2. พระจิตทำให้พวกสาวกมีสติปัญญารอบรู้ และมีความกล้าหาญจนยอมตายเพื่อพระเยซูคริสต์
    3. ศีลกำลังยังประทานความช่วยเหลือพิเศษ คือ พระคุณ 7 ประการของพระจิต
    4. เพื่อรับผลจากศีลกำลัง เราต้องร่วมมือโดย อยู่ในสถานะพระหรรษทาน สวดภาวนา และกระทำกิจการดี
  • กิจกรรม แบ่งผู้เรียนเป็น 7 กลุ่ม ตั้งชื่อแต่ละกลุ่มตามชื่อพระคุณ 7 ประการของพระจิต
    ครูชี้ที่กลุ่มใด ให้กลุ่มนั้นยืนขึ้นและขานชื่อกลุ่มของตนเองพร้อมๆกัน เมื่อครูชี้กลุ่มอื่นจึง นั่งได้
    กลุ่มใดขานชื่อผิดหรือไม่พร้อมกัน หรือยืน – นั่งไม่พร้อมกัน ให้จับแพ้ เหลื่อกลุ่มสุกท้ายเป็นผู้ชนะ

     การบ้าน วาดภาพพระจิตเป็นรูปนกพิราบ มีพระคุณ 7 ประการแวดล้อมเป็นวงกลม

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์