5. อย่าเน้นความรู้สึกหรืออารมณ์ต่อความศักดิ์สิทธิ์จนมากเกินไป
- เราไม่ควรกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของเด็กๆให้ศรัทธาต่อศีลมหาสนิทในทางที่ผิดๆหรือที่เกินเลยไป มิเช่นนั้นแล้วศีลฯจะเป็นเรื่องทางอารมณ์ความรู้สึกระหว่าง “พระเยซูเจ้ากับตัวฉัน” หรือ “ฉันกับพระเยซูเจ้า” ถ้าเป็นเช่นนี้ ศีลฯจะกลับเป็นเพียง “เครื่องมือเพื่อการครอบครองพระเยซูเจ้า” เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง นี้เป็นการบิดเบือนความหมายของศีลฯ เมื่อคนหนึ่งมีความรู้สึกชื่นชมยินดี เขาก็จะลืมไปว่าพระเยซูเจ้าทรงขอร้องให้เขาได้เปลี่ยนแปลงชีวิต นี้เป็นทัศนคติที่เห็นแก่ตัว เราต้องให้เด็กไปให้ถึงความหมายที่แท้จริง ศีลมหาสนิทนำความสุขมาให้เราก็จริงแต่จะต้องทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น มีประโยชน์ต่อผู้อื่นมากยิ่งขึ้น บางคนสอนว่า “พระเยซูเจ้าจะพูดกับเธอทางศีลมหาสนิท.....นั่งเงียบๆนะ” แล้วเด็กๆก็รอฟังแต่ไม่ได้ยินอะไรเลย แม้แต่ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ยังไปไม่พ้นความรู้สึกในขั้นนี้ หลายคนก็บ่นว่าศีลมหาสนิทไม่เห็นช่วยอะไรพวกเขาเลย เราจะต้องช่วยทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ด้วย
- อย่าใส่สีสันจนน่าตกใจหรือสวยหรูจนเกินไป เพื่อให้เด็กเกิดความศรัทธา เช่น “พระเยซูกุมารต้องนอนหนาวสั่นในรางหญ้า” “พระเยซูเหงามากไม่มีเพื่อนเล่นด้วย พระองค์กวักมือเรียกเรา” ....การบรรยายที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกที่ผิดปรกติไป เป็นต้น ในการภาวนา หรือในบทเพลงหลังการรับศีลมหาสนิท
- ให้ระมัดระวังเรื่องการใช้ภาพศักดิ์สิทธิ์ ภาพที่ดีจะต้องมาจากพระคัมภีร์ ส่วนภาพที่เกิดจากจินตนาการของใครก็ตามจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่าทำให้ภาพที่เราใช้ทำให้เด็กเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หรือเกิดความรู้สึกที่ผิดปรกติต่อพระเยซูเจ้าและศีลมหาสนิท เราต้องรอบรอบและไวต่อความรู้สึกในเรื่องนี้ เมื่อต้องใช้ภาพ รวมถึงเรื่องเล่า หรืออัศจรรย์ต่างๆที่ก่อให้เกิดจินตนาการในเรื่องของความศรัทธาต่อพระเจ้า ถ้าเราจะทำอะไรก็ตามก็ขอให้เราคิดถึงความจริงที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์และคำสอนของพระศาสนจักร
การเลือกบทมิสซา
- เราควรเลือกบทประจำมิสซาฯที่เหมาะสำหรับเด็ก สำหรับประเทศไทยมีบทภาวนาขอบพระคุณสำหรับเด็กให้เลือกใช้อยู่แล้ว 1 บท ซึ่งน่าจะมีบทมิสซาสำหรับเด็กๆโดยเฉพาะมากกว่านี้