ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

ความหมายของคำว่า “คำสอน”

ตอนที่ 5
ความหมายของ “การสอนคำสอน”ในสมัยปฏิรูปศาสนา

การสอนคำสอนได้มีการปรับและเปลี่ยนให้เข้ากับกาลสมัยตลอดมา
ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในสมัยนั้นๆ
อย่างเช่น ระบบการสอนคำสอนให้กับบรรดาผู้สนใจ
หรือที่เรียกว่า “คริสตังค์สำรอง” นั้นได้ปรับเปลี่ยน ก็สืบเนื่องมาจากมีจำนวน
ของผู้สนใจเข้านับถือศาสนาเป็นจำนวนมากขึ้น เป็นต้นศตวรรษที่ 4
หลังจากพระจักรพรรดิ์คอนสแตนตินกลับใจมานับถือคริสตศาสนา
ก็ทำให้ชาวโรมันหันมานับถือด้วย เหตุผลอีกประการหนึ่ง
ก็คือ การอนุญาตให้มีการล้างบาปเด็กๆ ได้
แม้ว่าระบบการสอนคำสอนคริสตังค์สำรองจะลดความเข้มข้นลงไป
แต่ความหมายของ “คำสอน” ก็ยังคงเหมือนกับสมัยที่ผ่านมา
คือ การสอนข้อคำสอนของคริสตชน

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คาทอลิกเราต้องหันมาตรวจสอบเรื่องงานคำสอน
ก็ได้แก่ การเกิดการปฏิรูปศาสนา โดยลูเธอร์ (1483-1546)
ลูเธอร์เดิมก็เป็นพระสงฆ์คาทอลิกเรานี่แหละ เป็นทั้งนักเทศน์และครูคำสอนด้วย
มูลเหตุที่ท่านเกิดความคิดที่จะปฏิรูป เนื่องจากมาจากท่านพบว่า
คริสตชนในเวลานั้นขาดความรู้เกี่ยวกับคำสอนของศาสนาอย่างมกา
เป็นต้นคนในชนบทและบรรดาคนหนุ่มสาว ตำราคำสอนที่มีอยู่ก็ไม่จุใจท่าน
ท่านจึงแต่งตำราคำสอนขึ้นใช้เองในปี ค.ศ. 1529 เล่มแรกชื่อ “คำสอนใหญ่”
 (The Great Catechism) เป็นคู่มือสำหรับครูผู้สอนและนักเทศน์
เล่มต่อมา ชื่อ “คำสอนเล็ก” (The Little Catechism) ใช้สำหรับเด็กๆ
และผู้ที่เริ่มเข้าเป็นคริสตชน หนังสือทั้งสองนี้ได้รับการยอมรับและแพร่หลายมาก
จนทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับข้อความเชื่อดั้งเดิมของคาทอลิก
จากหนังสือคำสอนของลูเธอร์นี้เอง ทำให้ผู้ใหญ่ของพระศาสนจักรเล็งเห็นว่า
คาทอลิกของเราควรมีหนังสือคำสอนที่มีระบบระเบียบ เพื่อใช้สำหรับอบรมความเชื่อ
ให้กับสมาชิกอย่างเป็นสากล ความคิดนี้ได้รับการยอมรับและให้เป็นหัวข้อสำคัญประการหนึ่ง
ในการประชุมสังคายนาแห่งกรุงเตรน (1545-1563) จนกระทั่งปี ค.ศ. 1566
เราคาทอลิกจึงมีหนังสือคำสอนอย่างเป็นทางการที่ชื่อว่า “คำสอนแห่งสังคายนากรุงเตรน” หรือ “The Catechism of the Council of Trent”  
(ยังเรียกว่า คำสอนสำหรับพระสงฆ์ประจำวัด หรือ คำสอนของปีโอที่ 5 อีกด้วย)
หนังสือคำสอนเล่มนี้เอง ถือว่าเป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบทั้งเนื้อหาและข้อคำสอนของคริสตชน
นอกจากนั้นยังได้รับการยกย่องให้เป็นดุจคู่มือแห่งงานอภิบาล (A pastoral directory)
สำหรับฐานันดรต่างๆ อีกด้วย
โครงสร้างของ “คำสอนโรมัน”  นี้แบ่งออกเป็น 4 ภาคใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
1.ความเชื่อและข้อความเชื่อของอัครสาวก (Faith and the Apostles Creed)
2.ศีลศักดิ์สิทธิ์ (The Sacraments)
3.พระบัญญัติ (The Commandments)
4.บทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย (The Our Father)
ในสองภาคแรกของหนังสือเล่มนี้เริ่มด้วย สิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำให้เราในอดีต
และสิ่งที่พระองค์ทรงกำลังกระทำในปัจจุบัน จากนั้นจึงเป็นสิ่งที่เรามนุษย์จะต้องตอบสนอง
ความรักความดีงามของพระองค์โดยการประพฤติตามบทบัญญัติและคำสั่งสอนของพระองค์
เมื่อมองดูประวัติศาสตร์ในช่วงนี้แล้ว ทำให้เราเข้าใจได้ว่า การสอนคำสอนในช่วงเวลานี้
มีจุดประสงค์เพื่อจะให้ความรู้ที่ถูกต้องของเราคาทอลิกแก่คริสตชน
และให้คริสตชนได้ยึดมั่นสัตย์ซื่อต่อความเชื่อนั้นเพื่อจะได้ต่อสู้กับคำสอนของพวกปฏิรูปต่างๆ หรือที่เราเรียกว่า พวกเฮเรติ๊กในสมัยนั้น ความเข้าใจว่า รู้คำสอนเพื่อไว้โต้ตอบ
โต้เถียง หรือปกป้องความเชื่อของตน ความคิดนี้ได้คงอยู่เรื่อยมาในพระศาสนจักรเป็นเวลานาน
ปัจจุบัน เราอยู่ในศตวรรษที่ 20 ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียน-การสอนคำสอน
ก็ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ดังเราจะได้ศึกษาจากเอกสารทางการ
ของพระศาสนจักรที่เกี่ยวข้องกับงานคำสอนโดยเฉพาะ
โดยเริ่มจากเอกสารของพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ที่ชื่อว่า Acerbo Nimis
ออกในปี ค.ศ. 1905 เรื่อยมาจนกระทั่งเอกสารชื่อ Catechesi Tradendae
ของพระสันตะปาปา ยอห์นปอลที่ 2 ในปี ค.ศ. 1979 จากเอกสารต่างๆ เหล่านี้
เราจึงได้หนังสือคำสอนฉบับปัจจุบันที่มีชื่อว่า The Catechism of the Catholic Church
โดยพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ออกในวันที่ 8 ธันวาคม 1992
ซึ่งมีชื่อภาษาไทยว่า คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก
(ขณะนี้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว 2 ภาค ภาค 1 การประกาศยืนยันความเชื่อ
แปลโดยอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ภายใต้การอำนวยการของคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร,
ภาค 2 ชีวิตในพระคริสตเจ้า ดำเนินการแปลโดย ฝ่ายงานอภิบาลและธรรมทูตอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยคุณพ่อวีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นผู้สนับสนุน)
ข้อมูลจาก           1. วิทยานิพนธ์ของ Jose Puthiyedath. 1994.
2. Going. Teach….., 1980
(สารคำสอนฉบับที่ 38 เดือนกุมภาพันธ์ 1997)

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์