ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

พระวาจาวันละคำ ปีนักบุญเปาโลพระวาจาวันละคำ ตามรอยเท้าท่านเปาโล
แนวทางเพื่อการอบรมหน้าแถว
เนื่องในปีนักบุญเปาโล (2008-2009)


1. “ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องละอายต่อข่าวดี”(รม 1:16)
• ข้อคิด : เราควรอายในเรื่องที่ไม่ดี แต่ต้องกล้าที่จะทำความดี ข่าวดีคือเรื่องของการทำให้สังคมสงบสุข เรื่องที่ทำให้คนสบายใจ วันหนึ่งๆเราควรพูดหรือกระทำแต่เรื่องที่ดีๆ ส่วนเรื่องที่ไม่ดีที่ทำหรือพูดไปแล้วทำให้เกิดเรื่องบาดหมางหรือไม่สบายเราก็ไม่ควรทำไม่ควรพูด เราต้องละอายใจถ้าเราเป็นต้นเหตุทำให้คนอื่นเกิดความเข้าใจผิดหรือต้องเสียหายเพราะคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ดีของเรา
• ข้อปฏิบัติ : วันนี้ให้เราทำความดีสักอย่างหนึ่งโดยไม่ต้องอายหรือเขิน เช่น เก็บขยะ ช่วยเหลือครูหรือเพื่อน ช่วยพ่อแม่ ช่วยคนที่ไม่รู้จัก ฯลฯ

2. “ผู้ชอบธรรมจะมีชีวิตโดยอาศัยความเชื่อ”(รม 1:17)
• ข้อคิด : คนชอบธรรมหมายถึงคนดี สังคมเราต้องการคนดี สาเหตุที่บ้านเมืองของเราวุ่นวายก็เพราะคนเราประพฤติตนไม่ดีไม่เป็นคนที่ชอบธรรม คนดีจะต้องมีศาสนาอยู่ในใจ เพราะศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของคนเรา เช่น ถ้าเรามีความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ หรือเชื่อในความสุขนิรันดรในเมืองสวรรค์ เราก็จะระมัดระวังตนในการกระทำต่างๆของเรา เราจะต้องทำดีอยู่เสมอ และต้องละเว้นสิ่งที่ชั่วร้ายหรือบาป
• ข้อปฏิบัติ : ให้ปฏิบัติกิจศาสนาที่ตนนับถือสักอย่างหนึ่ง เช่น สวดภาวนา ไปโบสถ์ ตักบาตร

3. “ความดื้อดึงไม่ยอมกลับใจของท่านมีแต่จะสะสมโทษสำหรับตนในวันพิพากษาลงโทษ”(รม 2:5)
• ข้อคิด : “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” คนเราทุกคนไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเลวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีดีบ้างไม่ดีบ้าง สิ่งที่สำคัญคือการรู้จักตนเอง หรือรับฟังคำตักเตือนของคนอื่น “คนดีชอบแก้ไข ส่วนคน...ชอบแก้ตัว”  ดังนั้นถ้าเราทำอะไรผิดพลาดไปให้เราขอโทษและเริ่มต้นชีวิตใหม่ มิเช่นนั้นใครจะยกโทษให้เราได้เสมอไป และเมื่อเราได้รับโทษเราจะไปโทษใครไม่ได้ เราต้องโทษตนเอง เพราะความผิดของตนเองได้ลงโทษตนเอง ไม่มีใครใจร้ายทั้งสิ้น
• ข้อปฏิบัติ : อย่าดื้อดึง ครูบอกอะไรก็ให้ปฏิบัติตาม

4. “พระเจ้าจะทรงตอบสนองทุกคนตามสมควรแก่การกระทำของพวกเขา”(รม 2:6)
• ข้อคิด : ทำดีย่อมได้ดี แม้เราทำดีแล้วจะไม่มีใครเห็นหรือให้รางวัล แต่พระเจ้าทรงรู้เห็นการกระทำของเราเสมอ และการตอบแทนของพระเจ้าย่อมสูงค่ากว่าสิ่งที่มนุษย์พึงจะให้ได้ เราทำดีเพราะเห็นแก่ความดี ไม่ใช่รางวัล รางวัลเป็นผลพลอยได้ของการกระทำดี ถ้าเราทำดีเพราะหวังผลประโยชน์ตอบแทน เราก็เป็นแค่คนรับจ้างทำดีเท่านั้น การกระทำทุกอย่างของเรามีผลต่อชีวิตของเราเสมอ ดังนั้นเราจึงควรกระทำแต่ความดี
• ข้อปฏิบัติ : หาข้อตั้งใจที่จะกระทำความดีสักหนึ่งประการ แล้วพยายามทำให้ได้

5. “ความทุกข์โศกจะมาถึงมนุษย์ทุกคนที่กระทำความชั่ว”(รม 2:9)
• ข้อคิด : จริงไหมที่คนที่ทำชั่วแล้วสบายใจ แม้ภายนอกเขาจะดูนิ่งเฉยหรือหัวเราะ แต่ภายในใจของเรามีแต่ความกังวลใจ และมโนธรรมจะคอยตำหนิติเตียนเขาไปตลอดเวลา เราโกหกใครก็ได้ แต่เราจะโกหกตัวเราเองและพระเจ้าไม่ได้ ลองคิดดูซิถ้าวันไหนเราทำความดี จิตใจของเราจะเกิดความรู้สึกอย่างไร สบายใจ สุขใจ อิ่มเอิบใจ ตรงกันข้ามถ้าเราทำความผิดเรามีแต่จะกลุ้มใจ กังวลใจ นี้คือโทษเบื้องต้นจากการกระทำของเราเอง
• ข้อปฏิบัติ : ให้ตรวจสอบว่ามีอะไรที่เรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดีสักอย่างหนึ่ง แล้วให้ตั้งใจจะลดละเลิกไม่ทำในสิ่งนั้นต่อไป

6. “ผู้ที่พระเจ้าจะทรงบันดาลความชอบธรรมนั้น ไม่ใช่ผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมบัญญัติเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติด้วย”(รม 2:13)
• ข้อคิด : คนเราในสมัยนี้ถามว่ารู้ผิดรู้ถูกไหม แน่นอนพวกเขาตอบได้ถูกต้องอย่างแน่นอน ถามว่ารู้ธรรมะรู้พระบัญญัติไหม รู้แน่นอน แต่ไม่กระทำ ความรู้เช่นนี้ไม่มีประโยชน์ บางคนสอบธรรมะได้คะแนนดี หรือรู้คำสอนของศาสนาดี แต่ความประพฤติไม่ดีเลย อย่างนี้ไม่เป็นคนที่ชอบธรรมหรือคนดีนั้นเอง เช่น ถามว่าลูกต้องรักพ่อรักแม่ไหม ลูกก็ตอบว่ารัก แต่เมื่อพ่อแม่บอกหรือสอนอะไรก็ไม่ยอมทำตาม อย่างนี้เรียกว่ารักแต่ปากเท่านั้นเอง
• ข้อปฏิบัติ : ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด หรือปฏิบัติตามพระบัญญัติทางศาสนาข้อใดข้อหนึ่งอย่างจริงจัง

7. “เมื่อสอนผู้อื่น ท่านก็สอนตนเอง”(รม 2:21)
• ข้อคิด : ภาษิตไทยเรา “ว่าแต่เขาอีเหนาทำเอง” หรือ “เอาน้ำใส่กะโหลก ชะโยกดูเงา” คนเรามักจะชี้นิ้วด่าว่าหรือวิจารณ์คนอื่นได้อย่างง่ายๆและรวดเร็ว จนบางครั้งลืมมองตนเองว่าตนเองเป็นอย่างไร ดังนั้นก่อนที่เราจะว่ากล่าวหรือสอนอะไรใครให้เราหยุดคิดถึงตนเองก่อนว่าสิ่งที่เราจะพูดจะสอนนั้นเราสามารถทำหรือเราเป็นอย่างนั้นได้หรือยัง มิเช่นนั้นคำพูดของเราก็จะหันมาทำร้ายตัวเราเองได้
• ข้อปฏิบัติ : ให้คิดก่อนที่จะพูด

8. “ความสุขเป็นของผู้ที่ได้รับการอภัยความผิด”(รม 4:7)
• ข้อคิด : เรามักจะโกรธหรือโมโหเมื่อมีคนทำผิดต่อเรา บางครั้งเราอยากจะตอบโต้ให้สาสมกับการกระทำนั้นๆ หรือบางทีอยากตอบโต้ให้หนักกว่าที่เขาทำกับตนเองเสียอีก ให้เรามองมุมกลับบ้าง ถ้าเราเป็นฝ่ายทำผิด เราเองจะรู้สึกอย่างไร เราคงอยากให้เขายกโทษให้เราใช่ไหม และถ้ามีใครยกโทษให้เรา เราคงจะมีความสุขมากจริง ดังนั้นบางทีเราก็เป็นฝ่ายถูกบางครั้งเราก็เป็นฝ่ายผิด จึงขอให้เราเอาใจเขามาใส่ใจเราและยึดคำของพระไว้ในใจเสมอ
• ข้อปฏิบัติ : วันนี้ให้เรายกโทษให้กับเพื่อนๆที่ทำความผิดต่อเราสักคนหนึ่ง

9. “ความทุกข์ก่อให้เกิดความพากเพียร”(รม 5:3)
• ข้อคิด : ความยากลำบากสร้างคนให้เป็นนักสู้ เหมือนทองแท้ต้องพิสูจน์ด้วยไฟ เราเห็นบรรดาคนที่ประสบความสำเร็จมากมายที่มาจากครอบครัวที่ยากจน แต่พวกเขาไม่เคยท้อแท้ กลับต่อสู้ด้วยความอดทนจนที่สุดก็ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน มีตัวอย่างให้เราเห็นมากมาย ตรงกันข้ามคนที่เคยสบาย ไม่ต้องทำอะไรเลย โตขึ้นก็ทำอะไรไม่เป็น ต้องมีคนคอยรับใช้ปรนนิบัติ ลำบากหน่อยก็ไม่สู้ งานหนักก็ไม่เอา ที่สุดก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร
• ข้อปฏิบัติ : วันนี้ถ้ามีอะไรที่ต้องลำบากบ้าง ให้สู้ทน ให้คิดว่าความทุกข์ทำให้เราแข็งแกร่ง อย่าบ่นหรือท้อถอย

10. “ท่านอย่าโอ้อวดข่มกิ่งที่ถูกตัดทิ้งไป ถ้าท่านโอ้อวดก็จงรู้เถิดว่า ไม่ใช่ท่านที่พยุงราก แต่เป็นรากที่พยุงท่านไว้”(รม 11:18)
• ข้อคิด : คนที่ชอบโอ้อวดตนเองว่าเก่งอย่างโน้นอย่างนี้ ทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้สารพัด หรือมีผลงานสารพัด มักจะไม่มีคนชอบ และยิ่งถ้ารู้ว่าไม่จริงดังที่พูดก็ยิ่งหมดความน่าเชื่อถือไปมากทีเดียว ถ้าเรามีความสามารถเราต้องระลึกถึงบุคคลที่ช่วยเราให้มีความสามารถนั้น เช่น ถ้าเราอ่านหนังสือได้ก็ใครล่ะที่สอนให้เราอ่านให้เราเขียนหรือให้เราคิดเป็น เราเก่งกีฬาก็ใครล่ะที่ฝึกฝนพร่ำสอนเรา และที่สำคัญพ่อแม่ผู้มีพระคุณที่เปรียบเสมือนรากแก้วในชีวิตของเรา ถ้าไม่มีท่านก็ไม่มีเราในวันนี้ ดังนั้นเราจึงควรสุภาพถ่อมตนให้เกียรติแก่ผู้ที่มีพระคุณและแสดงความกตัญญูต่อท่านเหล่านั้นเสมอ
• ข้อปฏิบัติ : ให้ระลึกถึงผู้ที่มีพระคุณของตนเอง แล้วอธิษฐานภาวนาขอพระพรจากพระเจ้าให้กับบุคคลนั้น และถ้ามีโอกาสให้ไปเยี่ยมท่านไปสวัสดีขอพรจากท่าน

11. “จงรักกันฉันพี่น้อง จงคิดว่าผู้อื่นดีกว่าตน”(รม 12:7)
• ข้อคิด : การยกตนข่มท่าน หรือการที่คิดว่าตนเองดีกว่าผู้อื่น ของคนอื่นสู้ของตนไม่ได้ ตนเองเก่งไปเสียทุกอย่าง คนประเภทนี้เปรียบเสมือนชาล้นถ้วย คือ ไม่สามารถเติมอะไรลงไปได้อีกแล้ว และไม่มีใครอยากจะให้อะไรเขาด้วย เพราะเขาเก่งแล้ว เขามีแล้ว ตรงกันข้ามคนที่เห็นคนอื่นดีกว่าตน ย่อมจะก่อให้เกิดความพยายามหรือแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้จากคนอื่นและก้าวหน้าต่อได้ไม่มีวันจบ
• ข้อปฏิบัติ : วันนี้ให้พยายามมองความดีของเพื่อนๆที่อยู่ร่วมห้อง บอกให้ได้ว่าเพื่อนคนนั้นมีความดีหรือความสามารถอะไรที่เราไม่มี และให้เราได้ฝึกฝนสิ่งที่เรายังขาดนั้น

12. “จงเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือพี่น้องในยามขัดสน จงต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรี”(รม 12:13)
• ข้อคิด : ไม่มีใครยากจนจนกระทั่งไม่สามารถให้อะไรใครได้ อย่างน้อยเรายังมีน้ำใจ มีรอยยิ้ม มีแรงกายที่พอจะช่วยเหลือกันได้ เพื่อนแท้คือเพื่อนที่อยู่กับเราในยากยากลำบาก ไม่มีใครอยากลำบากหรือขัดสน ดังนั้นเราจึงควรเห็นใจกัน และแสดงน้ำใจต่อกัน บางครั้งเพื่อนอาจจะไม่ต้องการวัตถุสิ่งของแต่ต้องการทางจิตใจมากกว่า อย่าน้อยรอยยิ้มหรือคำพูดที่ให้กำลังใจก็เสมือนน้ำฝนที่หลั่งลงมาในหัวใจของเพื่อนที่กำลังทุกข์ยากลำบาก
• ข้อปฏิบัติ : ให้ความช่วยเหลือเพื่อน เช่น ให้เพื่อนยืมของ ยิ้มให้เพื่อน ช่วยเพื่อนถือของ แบ่งขนมให้เพื่อน ฯลฯ

13. “จงร่วมยินดีกับผู้ที่ยินดี จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้”(รม 12:14)
• ข้อคิด : เพื่อนแท้คือเพื่อนที่สามารถร่วมทุกข์และร่วมสุขกับเราได้ บางคนเลือกแต่ร่วมสุขกับเพื่อน แต่เวลาที่เพื่อนมีความทุกข์ที่หนีหน้าไป หรือบางคนเห็นเพื่อนมีความสุขหรือความสำเร็จต่อหน้าก็แสดงความยินดีกับเพื่อน แต่ลับหลังก็เกิดความอิจฉา บุคคลเหล่านี้ไม่เรียกว่าเพื่อนแท้ เราต้องมีความจริงใจกับเพื่อนอย่างแท้จริง ต้องเห็นอกเห็นใจกัน หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรา
• ข้อปฏิบัติ : ให้แสดงความยินดีกับเพื่อนที่ประสบความสำเร็จ หรือชมเชยเพื่อนที่เก่งกว่าเรา ยอมรับว่าเขาเก่งกว่าเราอย่างจริงใจ และเมื่อเพื่อนมีความทุกข์ก็ให้ปลอบใจหรือให้กำลังเพื่อน

14. “อย่ามักใหญ่ใฝ่สูง แต่ยอมทำสิ่งต่ำต้อยเถิด อย่าทะนงว่าตนฉลาด”(รม 12:16)
• ข้อคิด : ความมักใหญ่ฝันสูงคือลักษณะของคนที่พยายามทำตนเองให้ก้าวหน้าจนเลยขอบเขต เป็นความพยายามที่จะเป็นใหญ่เหนือคนอื่น ดีกว่าคนอื่น ซึ่งที่จริงแล้วความคิดที่จะก้าวหน้านั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าตนเองต้องการก้าวหน้าโดยไม่เห็นแก่คนอื่นๆหรือไม่คำนึงถึงวิธีการ ก็จะทำให้คนนั้นเราลืมตนเอง เห็นคนอื่นเป็นเพียงสิ่งของที่ไม่มีค่า ไม่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เห็นแก่ประโยชน์ของตนเองเท่านั้น คนเช่นนี้จะหาเพื่อนยาก ไม่มีใครอยากเป็นเพื่อนด้วย อีกประการหนึ่งคือการอวดฉลาด คนที่อวดฉลาดมักจะเป็นที่ขบขันของผู้อื่น และจะไม่ได้รับในสิ่งที่ควรจะได้รับเพราะคนอื่นนึกว่าเขาเก่งแล้ว
• ข้อปฏิบัติ : เราต้องตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้ให้ดี ให้เหมาะสมกับฐานะและความสามารถของเรา จากนั้นให้เราพยายามไปให้ถึงเป้าหมายโดยไม่ดูถูกเพื่อนหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น และเราต้องสุภาพถ่อมตน ยินดีทำงานที่ไม่มีใครเขาอาสาทำ

15. “อย่าตอบแทนความชั่วด้วยความชั่ว จงพยายามทำดีต่อทุกคน”(รม 12:17)
• ข้อคิด : เมื่อมีใครทำผิดต่อเรา หรือทำให้เราต้องเสียหาย เรามักจะมีความแค้น และอยากจะชำระความแค้นนั้น นี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา แต่ถ้าเราได้แก้แค้นเราจะมีความสุขแน่หรือ แก้แค้นกันไปแก้แค้นกันมา ไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นพระจึงสอนเราให้เราหลุดพ้นวงจรแห่งการแก้แค้นนี้ โดยการให้อภัยและให้เอาชนะใจกันด้วยความดี ความดีแม้ทำไปแล้วเขาจะไม่ยอมรับ ความดีก็ยังเป็นความดีอยู่เสมอไป ทำดีก็เป็นบุญกุศลสำหรับตนเองต่อไปไม่มีสูญเปล่า
• ข้อปฏิบัติ : วันนี้ให้เราทำดีกับเพื่อนที่เราไม่ชอบ หรือเพื่อนที่ชอบแกล้งเราสักคนหนึ่ง หรือให้เรายกโทษให้เพื่อนที่ทำผิดต่อเรา

16. “จงอยู่อย่างสันติกับทุกคน”(รม 12:17)
• ข้อคิด : “คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก” เมื่อเราจะอยู่ที่ไหน เราก็อยากอยู่แบบมีความสุข แต่ความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนต่างๆทำหน้าที่ของตนเองอย่างดี และต่างให้ความรักความเป็นเพื่อนต่อกัน ถ้าเรารอให้คนอื่นมาให้ความสุขกับเรา โดยที่เราไม่หยิบยื่นความสุขนั้นให้กับผู้อื่น เราก็จะไม่มีสันติสุขอย่างแน่นอน เมื่อจะอยู่กับใครก็ตามจงพยายามมีน้ำใจที่ดีกับทุกคน ช่วยเหลือทุกคน จริงใจกับทุกคน แล้วทุกคนจะสนองตอบอย่างนั้นเช่นเดียวกัน
• ข้อปฏิบัติ : ให้ยิ้มให้กับเพื่อนๆทุกคน และสังเกตดูว่าเพื่อนต้องการความช่วยเหลืออะไร ให้เรารีบช่วยโดยไม่ต้องให้เพื่อนขอร้อง

17. “อย่าแก้แค้นกันเลย”(รม 12:17)
• ข้อคิด : ความแค้นไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้เรากลุ้มใจตลอดไป ความคิดจะวนๆเวียนๆ ไม่มีความสบายใจ เหมือนกับแบกอะไรหนักๆไว้บนศีรษะ ความคิดก็จะไม่ปลอดโปร่ง จิตใจไม่แจ่มใส หน้าตาดูหมองหม่น มีแต่ความเครียด คิดแต่จะหาทางแก้แค้นจนไม่มีเวลาคิดสร้างสรรค์ เมื่อมีความแค้นให้ฝากความแค้นไว้กับพระเจ้า เพราะพระเจ้าทรงรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา รู้ว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างไร ใช้เวลาเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์กับตัวของเราเองจะดีกว่า อย่าทำร้ายตนเองด้วยความแค้นเลย
• ข้อปฏิบัติ : ฝากชีวิตของเราไวกับพระเจ้า พระเจ้าทรงมีดวงตาทรงรู้เห็น และทรงมีวิธีสอนคนที่ทำผิดต่อเราเอง การแก้แค้นไม่ใช่ธุระอะไรของเรา

18.  “ทุกคนจงนอบน้อมต่อผู้มีอำนาจปกครอง เพราะไม่มีอำนาจใดที่ไม่มาจากพระเจ้า”(รม 13:1)
• ข้อคิด : เมื่ออยู่ด้วยกันจำนวนมาก ก็ย่อมต้องมีการจัดระเบียบสำหรับความเป็นอยู่เพื่อความสงบสุขของทุกสถานที่ สังคมจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของสมาชิก เราจึงต้องให้ความนบนอบเชื่อฟัง เพราะไม่มีผู้ใหญ่คนใดที่ไม่หวังดีต่อเรา ถ้าหากมีผู้ใหญ่คนใดที่เราคิดว่าเขาทำไม่ถูกต้อง ผู้ใหญ่คนนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อหน้าพระเจ้าและบุคคลที่มีอำนาจสูงกว่าเขาขึ้นไป การนบนอบไม่ทำให้ใครเสียหาย แต่จะช่วยทำให้ตัวเราและสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
• ข้อปฏิบัติ : ให้เราเชื่อฟังคำสั่งของผู้ใหญ่ด้วยความเต็มใจ ถือว่าปฏิบัติตามผู้ใหญ่ก็กับปฏิบัติตามคำสั่งของพระเจ้า

19. “ผู้กระทำความดีไม่ต้องเกรงกลัวผู้มีอำนาจปกครอง แต่ผู้กระทำชั่วต้องเกรงกลัว”  (รม 13:3)
• ข้อคิด : ทำไมคนร้ายจึงต้องหลบๆซ่อนๆ เขาหลบซ่อนก็เพราะเขาทำความผิดมา และกลัวถูกตำรวจจับได้ คนที่ทำผิดจะเสียงตำหนิติเตียนอยู่ในใจเสมอ และเสียงตำหนิจะดังก้องอยู่ในใจจนทำให้เกิดความผิดปรกติในร่างกายของตนเอง ตรงกันข้ามกับคนที่ทำดีทำถูกต้องจะมีจิตใจที่เบิกบาน
• ข้อปฏิบัติ : จงทำดี ละเว้นความชั่ว

20. “จงเกรงกลัวผู้ที่ควรเกรงกลัว จงให้เกียรติแก่ผู้ที่สมควรจะได้รับเกียรติ”(รม 13:7)
• ข้อคิด : บุคคลที่เราควรเกรงกลัวคือบุคคลที่สามารถให้คุณหรือให้โทษเราได้ การเกรงกลัวควรเป็นท่าทีของการยอมรับอำนาจว่าบุคคลนั้นๆมีอำนาจหน้าที่ในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อส่วนรวม ซึ่งแสดงออกโดยการงดเว้นหรือไม่ปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ผิดระเบียบหรือกฎบัญญัติ ส่วนการให้เกียรตินั้นเป็นการแสดงออกของจิตใจที่ยอมรับในคุณงามความดีหรือความน่าเคารพนับถือของบุคคลอื่น เช่น การให้ความเคารพผู้อาวุโส ครูบาอาจารย์ ปู่ย่าตายาย เป็นต้น
• ข้อปฏิบัติ : วันนี้เมื่อพบครูหรือผู้ใหญ่ให้ไหว้ด้วยความเคารพ

21. “อย่าเป็นหนี้ผู้ใด นอกจากเป็นหนี้ความรักซึ่งกันและกัน”(รม 13:8)
• ข้อคิด : เมื่อเราไปขอยืมของหรือเงินของใครมา ก็ถือว่าเราเป็นหนี้เขา เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องชดใช้หรือคืนให้เขา ถ้าใครไม่ยอมคืนก็ถือว่ามีความผิด เช่นเดียวกันเมื่อใครให้ความช่วยเหลือเรา เรารู้สึกซาบซึ้งใจและรู้สึกว่าเป็นบุญคุณที่จะต้องหาทางตอบแทนให้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง  ความดีงามหรือความรักที่เราได้รับไม่ว่าจากใครก็ตามก็ถือว่าเป็นหนี้อย่างหนึ่งที่เราจะต้องชดใช้ให้กัน หนี้ความรักนี้ใช้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด ยิ่งชดใช้ยิ่งได้รับความรักกลับคืนมากเท่านั้น และทำให้ผู้รับและผู้ให้มีความสุข
• ข้อปฏิบัติ : ให้จดชื่อเพื่อนๆที่ทำดีกับเรา แล้ววางแผนที่จะชดใช้หนี้ความดีนี้โดยหาวิธีทำดีตอบแทนเพื่อนคนนั้นๆ

22. “เราจงพยายามทำกิจการที่นำไปสู่สันติและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่กันและกัน”(รม 14:19)
• ข้อคิด : เมื่อเราอยู่ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวหรือในโรงเรียน เราต้องยอมรับว่าความประพฤติปฏิบัติของเราแต่ละคนมีส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านหรือโรงเรียนของเรามีความสุข ถ้าลูกคนหนึ่งเกเร ไม่เชื่อฟัง พ่อแม่ก็ต้องโกรธ บรรยากาศในบ้านก็ไม่ดี ในโรงเรียนก็เช่นกัน ถ้าสมาชิกคนใดคนหนึ่งประพฤติตนไม่ดี ส่วนรวมก็จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย ดังนั้นเราจึงควรที่จะประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียน เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่กันและกัน เช่น การแต่งตัว การทำการบ้าน การรับผิดชอบในหน้าที่ เป็นต้น
• ข้อปฏิบัติ : วันนี้ให้ปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด เป็นต้นจะไม่พูดคุยขณะที่ครูสอนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆ

23. “พวกเราแต่ละคนต้องเอาใจพี่น้องเพื่อความดีและค้ำจุนกัน”(รม 15:2)
• ข้อคิด : การเอาใจพี่น้องเพื่อความดีและค้ำจุนกันในที่นี้หมายความว่าการให้กำลังใจกันและกันเพื่อการทำความดี คนเราทุกคนต่างต้องการกำลังใจด้วยกันทั้งนั้น หลายคนไม่กล้าทำความดีเพราะทำไปแล้วถูกเพื่อนต่อว่าต่างๆนาๆ การกระทำเช่นนี้ไม่ถูกต้อง ถ้ามีใครทำความดี เราจะต้องเสริมกำลังใจกัน และช่วยกันทำความดีเพิ่มขึ้น ให้มีคนทำความดีมากๆ มากกว่าคนที่ทำไม่ดี สังคมบ้านเมืองของเราจะได้มีความสงบสุข
• ข้อปฏิบัติ : เมื่อเห็นหรือรู้ว่าเพื่อนคนใดทำความดี ให้ชมเชยเพื่อนที่ทำความดีนั้นแล้วพยายามทำดีตามแบบอย่างของเขา

24. “ให้ระวังและหลีกเลี่ยงบุคคลที่ทำให้เกิดความแตกแยกและขัดขวางคำสอนที่ท่านทั้งหลายเรียนรู้มา”(รม 16:17)
• ข้อคิด : เพื่อนของเรามีมากมายหลายคน แต่ละคนก็มีนิสัยที่แตกต่างกัน เราต้องรักเพื่อนของเราทุกคน แต่อย่างไรก็ตามถ้ามีเพื่อนคนใดที่ชอบสร้างแตกแยก ชอบยุให้คนอื่นทะเลาะกัน หรือชวนให้เราทำผิดต่อกฎระเบียบของโรงเรียน หรือชักชวนให้เราทำในสิ่งที่ไม่ดีผิดต่อคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ เราจะต้องหลีกเลี่ยง หรือไม่ใกล้ชิดกับเพื่อนคนนั้น เพราะจะทำให้เราเป็นคนไม่ดีไปด้วย
• ข้อปฏิบัติ : เราจะต้องไม่พูดในสิ่งที่ไม่ดีของคนอื่น ตรงกันข้ามให้พูดสิ่งที่ดีๆของกันและกันเพื่อให้ห้องเรียนของเรารักกันสามัคคีกัน

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์