ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

ตัวอย่างของความสุขแท้จริง 8 ประการ  ความหมายที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างของความสุขแท้จริง
8 ประการ

ความหมายที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น

           เราคริสตชนจดจำพระบัญญัติ 10 ประการและบทข้าพเจ้าเชื่อได้ดี แต่คำสอนเรื่องความสุขแท้จริงล่ะ

            ความสุขแท้จริงเป็นชุดคำสอนและคำอวยพรที่พระเยซูเจ้ามอบให้ขณะที่ทรงเทศน์บนภูเขาซึ่งมีบันทึกในพระวรสารของนักบุญมัทธิว สารเรื่องความสุขแท้จริงนี้บอกถึงพื้นฐานความเชื่อของคริสตชน มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คริสตชนสามารถดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูเจ้า บางเรื่องปฏิบัติได้ง่ายแต่บางเรื่องอาจจะยาก แต่ทุก ๆ เรื่องล้วนเป็นเสาหลักของการดำเนินชีวิตคริสตชน ดังนั้น บทความเรื่อง “ตัวอย่างของความสุขแท้จริง” จึงมีความสำคัญสำหรับคริสตชนทุกคน

ความหมายของความสุขแท้

            ความสุขแท้จริง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Beatitudes หมายความถึง “การอวยพร” หรือ “ความสุข” ซึ่งมีจากรากศัพท์ภาษาลาติน นักวิชาการยังมีข้อถกเถียงกันบ้างถึงจำนวนของความสุขแท้จริง เพราะมีเรื่องเปรียบเทียบและคำสอนที่แสดงให้รู้ว่าคริสตชนควรดำเนินชีวิตอย่างไรไว้มากมายหลายตอนด้วยกัน

สำหรับพระวรสารของนักบุญมัทธิวนี้ พระเยซูได้บอกชื่อของกลุ่มบุคคล 8 กลุ่มที่ได้รับพระพร ดังนี้

3 “ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข   เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา

4ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข  เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน

5ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก

6ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม

7ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา

8ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า

9ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข  เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า

10ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข   เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา



เราเริ่มพิจารณากันทีละกลุ่มดังนี้

1. “ใจยากจน”

ความสุขของบุคคลกลุ่มแรกที่พระเยซูเจ้าทรงเทศน์บนภูเขาอยู่ในมัทธิว 5:3 คือ

               3 “ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข  เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา

       คำว่า “ใจยากจน” หมายถึงบุคคลที่สุภาพถ่อมตนและสำนึกตนเสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเองมีนั้นเป็นพระพรที่พระเจ้าประทานให้ เป็นความสำนึกว่าตนเองยังมีข้อบกพร่อง ยังไม่ดีพร้อมจึงยังมีความต้องการพระเจ้า เพื่อมาเติมเต็มในชีวิตของเขา เมื่อคนหนึ่ง "ยากจน” ใจของเขาจึงว่างเปล่าไม่มีอะไร จึงมีพื้นที่ให้พระเจ้าเข้ามาประทับในใจของเขา

       “ความสุภาพถ่อมตน” เช่นนี้ตรงกันข้ามกับคำว่า “หยิ่งจองหอง” ซึ่งเป็นบาปแรกที่มนุษย์คู่แรก (อาดัมและเอวา) ได้กระทำจนทำให้มนุษยชาติต้องตกต่ำลง เมื่อคนเรามีความสุภาพ เขาก็พร้อมที่จะต้อนรับพระเจ้าด้วยความเต็มใจ จิตใจของเขาก็จะมีสันติสุข “พระอาณาจักรสวรรค์” ก็เป็นของเขาตั้งแต่ในโลกนี้และยังมีหลักประกันที่จะได้รับความสุขเป็นรางวัลในชีวิตหน้าด้วย  


2. “ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า”

ความสุขของบุคคลกลุ่มสองอยู่ในมัทธิว 5:4 คือ

           "4ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข  เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน”

          ความทุกข์โศกเศร้าไม่ได้มาจากความผิดหวังหรือไม่ได้อะไรตามที่ใจต้องการ แต่มาจากจิตใจที่สุภาพและสำนึกว่าสิ่งของต่างภายนอกหรือของ ๆ โลกนี้ล้วนแต่ไม่จีรังยั่งยืน แต่อาณาจักรสวรรค์นั้นเป็นของเที่ยงแท้ คงอยู่ถาวรตลอดไป

          อีกประการหนึ่ง เมื่อคนหนึ่งเป็นทุกข์เสียใจในความบาปของตน ยอมรับความบกพร่องของตน เสียใจและต้องการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ความสำนึกเช่นนี้ช่วยให้เขาได้การปลอบโยนและการให้อภัย

           ความทุกข์โศกเศร้าที่เห็นความเลวร้ายของสังคมโลกหรือความเจ็บปวดของเพื่อนพี่น้อง ต่อหน้าเหตุการณ์เช่นนี้ทำให้เขารู้สึก “เห็นอกเห็นใจ” คิดได้ว่าเขาต้องเป็นคนหนึ่งที่ต้องให้การปลอบโยนหรือให้กำลังใจ ความรู้สึกเช่นนี้ตัวเขาเองก็จะได้รับการปลอบโยนจากพระเจ้าเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้เช่นกัน 

          ศิษย์พระคริสต์ยังเป็นทุกข์โศกเศร้าเพราะยิ่งได้ไตร่ตรองถึงพระวาจาของพระเจ้าก็ยิ่งเห็นความบกพร่องและความน่าสงสารของธรรมชาติมนุษย์ จึงมีความปรารถนาที่จะได้รับคำปลอบโยนจากพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ และความเห็นอกเห็นใจจากเพื่อนพี่น้องด้วยกันเพื่อจะได้ลุกขึ้นมาเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น 


3. “ใจอ่อนโยน”

          ความสุขของกลุ่มบุคคลที่สามอยู่ในพระวรสารมัทธิว 5:5 เป็นความมหัศจรรย์ของคนที่มีใจอ่อนโยน

             5ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข  เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก

           ความอ่อนโยนคือความสุภาพถ่อมตน เป็นบุคคลที่นบนอบและยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าได้ พระเยซูทรงมีใจ “สุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน”(มัทธิว 11:29) และนี่แหละที่เราคริสตชนได้รับการเรียกร้องให้ปฏิบัติตาม

             ส่วน “ได้รับแผ่นดินเป็นมรดก" นั้น ตามธรรมดาใครก็ตามที่ได้เข้าอยู่ภายใต้ผู้ที่ยิ่งใหญ่ก็ย่อมได้รับมรดกอันล้ำค่าจากผู้นั้นด้วย บุคคลที่อ่อนโยนเหมือนพระเจ้าจึงสมควรที่จะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก แผ่นดินที่ถาวรคือเมืองสวรรค์นั้นเอง


4. “หิวกระหายความชอบธรรม”

            ความสุขของบุคคลกลุ่มที่สี่ อยู่ในพระวรสารมัทธิว 5:6 ที่ใช้คำเปรียบเทียบกับความต้องการในชีวิตของมนุษย์ คือ หิว และกระหาย แต่ไม่ใช่หิวกระหายของ ๆ โลก เป็นความกระหายในความชอบธรรมฝ่ายจิตวิญญาณ

               6ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม

             สำหรับบุคคลที่หิวและกระหายความชอบธรรมมากกว่าความพึงพอใจในทรัพย์สินหรือสิ่งของต่าง ๆ ของโลก เขาจะได้รับความชอบธรรมนั้นอย่างสมบูรณ์

              ผู้ที่หิวกระหายฝ่ายจิตรู้ตัวว่าตนเองยังขาดอยู่และมีความต้องการ พระจิตเจ้าจะเข้าเติมเต็มในจิตใจของเขา ผู้ติดตามพระคริสต์ควรปรับปรุงตนให้ดีขึ้นด้วยพระวาจาของพระเจ้า


5. “ใจเมตตา”

          ความสุขของบุคคลในกลุ่มที่ห้า พระเยซูทรงเน้นที่บทบัญญัติทองคือความรักผู้อื่นและรักตนเอง ในมัทธิว5:7

               7ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา

             ความเมตตาเป็นคุณลักษณะที่สำคัญในพระคัมภีร์ และมีอ้างอิงถึงหลายครั้ง เช่น ลูกา 6:36: “จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงเมตตากรุณาเถิด” ทุกครั้งที่เราให้อภัยคนอื่น เราก็ได้แสดงความเมตตาต่อผู้นั้น

              ความเมตตาแสดงออกผ่านทางความเห็นอกเห็นใจและความรักต่อกันและกัน นี่คือบัญญัติทองในเลวีนิติ 19:18 “ท่านจะต้องไม่แก้แค้นหรืออาฆาตชนชาติเดียวกันกับท่าน แต่จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า”

6. “ใจบริสุทธิ์”

              ความสุขของบุคคลกลุ่มที่หกใน มัทธิว 5:8 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผู้ฟังที่รวมกันอยู่บนภูเขานั้นรู้สึกตกใจ

                 8ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า

               ใจบริสุทธิ์หมายถึงสภาพของจิตใจที่เต็มไปด้วยพระพร ความถ่อมตน และความรัก เราทุกคนล้วนเป็นคนบาป ดังนั้นทั้งกาย ใจ และสติปัญญาของเรายังไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่ด้วยการติดตามพระเจ้าและพระวาจาของพระองค์ พวกเราจะได้รับการชำระล้างให้บริสุทธิ์ได้ 

                โมเสส (อพยพ 33:20) ยอห์น 1:18 และเปาโล (1 ทิโมธี 6:16) ล้วนแต่กล่าวว่า ไม่มีใครมองเห็นพระเจ้าในโลกนี้ได้ ดังนั้น สำหรับคนที่มีใจบริสุทธิ์เท่านั้นจะได้เห็นพระเจ้าในอาณาจักรสวรรค์ หมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องแสดงความรัก ความถ่อมตน และการไม่เห็นแก่ตัวเพื่อทำตามคำสอนเรื่องความสุขแท้จริง ที่แสดงภาพเปรียบเทียบว่าเป็นพระพักตร์ของพระเจ้า พระพักตร์ของพระเจ้าถูกเผยให้เห็นบนใบหน้าของบุคคลที่แสวงหาพระเจ้า

7. “ผู้สร้างสันติ”

                ความสุขของบุคคลในกลุ่มที่เจ็ด พระเยซูเจ้าทรงอวยพรให้บุคคลที่สร้างสันติและยังบอกถึงรางวัลที่พวกเขาจะได้รับด้วย

                    9ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า

                ผู้สร้างสันติไม่ใช่ผู้นำและผู้ปกครอง แต่สันติจะนำและปกครองบุคคลให้แสวงหาพระเจ้า

                ฟิลิปปี 4:7 กล่าวว่า “แล้วสันติสุขของพระเจ้าซึ่งเกินสติปัญญาจะเข้าใจได้นั้น จะคุ้มครองดวงใจและความคิดไว้ในพระคริสตเยซู” 

                ในยอห์น 14:27 พระเยซูตรัสว่า “เรามอบสันติสุขไว้ในท่านทั้งหลาย เราให้สันติสุขของเรากับท่าน” นี่หมายความว่าสันติที่โลกนี้ให้ไม่เหมือนกับสันติที่พระเจ้าประทานให้ พระเยซูทรงสละโลกเพื่อมอบสันติหลังจากความตายบนไม้กางเขน  สันติของโลกไม่มีวันคงอยู่ได้ถาวรเพราะธรรมชาติความบาปของมวลมนุษย์ หลังจากที่พระเยซูทรงสละโลกนี้ไป พระองค์ทรงสัญญาจะมอบสันติถาวรให้แก่ผู้ที่แสวงหาพระองค์


8. “ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหง”
              พระเยซูสรุปความสุขแท้จริงโดยเน้นหนักในมัทธิว 5:10.

                  10ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา

                คริสตชนจะต้องยืนหยัดในความเชื่อแม้ว่าจะถูกเบียดเบียนข่มเหงหรือการไม่ได้รับการยอมรับในรูปแบบต่าง ๆ  ถ้าคริสตชนได้รับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม เขาก็จะได้รับสิ่งนั้นในชีวิตหน้า และจะได้รับอาณาจักรสวรรค์เป็นรางวัล คริสตชนจะต้องยึดมั่นในความเชื่อแม้ว่าจะถูกสั่งให้กระทำบางสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อ หรือที่รู้ดีว่าเป็นสิ่งที่ผิด 

                คำสอนนี้ยังมีต่อในมัทธิว 5:11-12  “ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก เขาได้เบียดเบียนบรรดาประกาศกที่อยู่ก่อนท่านดังนี้ด้วยเช่นกัน”

                 การเบียดเบียนข่มเหงในโลกนี้มีหลายรูปแบบ คริสตชนถูกเรียกร้องให้รักและช่วยเหลือบุคคลที่ถูกกระทำเหล่านั้น และในข้อที่ 11 เมื่อพูดถึงบุคคลที่ “ถูกดูหมิ่น ข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา”  ยังหมายถึงบุคคลที่ใช้พระนามของพระเจ้าเพื่อข่มเหงผู้อื่น และประกาศตนว่าเป็นคริสตชนแต่ประพฤติตนตรงกันข้ามกับคำสอนของพระเยซูคริสต์

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์