ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

บทบาทของพระคัมภีร์บทบาทของพระคัมภีร์
       
พระคัมภีร์ไบเบิ้ลมีความสำคัญต่อชีวิตของเราคริสตชนทุกคน เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะบอกว่าเรานับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกแต่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพระคัมภีร์หรือไม่อ่านพระคัมภีร์เลย น.เยโรมกล่าวว่า “ใครไม่รู้จักพระคัมภีร์ก็ไม่รู้จักพระเยซูคริสตเจ้า”
        ในครั้งนี้เราจะศึกษาถึงความสำคัญของพระคัมภีร์ในสมัยแรกเริ่มของพระศาสนจักร
  จุดประสงค์ของพระคัมภีร์ในแต่ละภาค
               พระศาสนจักรของเราตั้งแต่ยุคเริ่มแรกได้ใช้พระคัมภีร์เป็นพื้นฐานในการอบรมสั่งสอนและแนะนำการดำเนินชีวิตของประชาชน เริ่มจากพระคัมภีร์ภาคปัจบรรพที่มุ่งหวังให้มนุษย์ได้สำนึกถึงการเป็นประชากรของพระเจ้า ความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ความรักของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเรามนุษย์ พระคัมภีร์ภาคประวัติศาสตร์และประกาศกแสดงให้เราเห็นถึงบทบาทขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมีต่อชีวิตของชาวอิสราเอลและความมุ่งหวังที่พระองค์ทรงมีต่อพวกเขา(รวมทั้งพวกเราด้วย) เช่นเดียวกันพระคัมภีร์ภาคปรีชาญาณมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังคุณค่าความดีงามและถูกต้องให้จารึกอยู่ในหัวใจของประชาชนเพื่อให้ความเชื่อศรัทธาของพวกเขาจะได้เติบโตจนบรรลุถึงความสมบูรณ์ที่แท้จริง

  พระเยซูทรงสอนโดยอ้างอิงพระคัมภีร์
               พระเยซูเจ้าเองทรงเทศน์สอนโดยการอ้างอิงถึงพระคัมภีร์ เราลองตรวจสอบดูในพระวรสารจะเห็นว่าพระองค์ทรงอ้างอิงพระคัมภีร์อยู่เสมอๆและคำสอนของพระองค์มีพื้นฐานมาจากพระคัมภีร์เอง

  พระศาสนจักรยุคแรกสืบทอดพระศาสนาโดยใช้พระคัมภีร์
                เมื่อถึงสมัยของพระศาสจักรในยุคเริ่มแรกนั้นทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ได้เป็นหลักฐานสำคัญของการฝึกอบรมคริสตชน บรรดาประชาชนอยากรู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงสอนอะไรและทรงปฏิบัติตนอย่างไรอย่างถูกต้องแท้จริง ดังนั้นการบอกเล่าต่อกันมาจึงเป็นวิธีการเริ่มแรกและต่อมาจึงได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งทำให้เรามีหนังสือพระคัมภีร์ที่แตกต่างกันหลายเล่มด้วยกัน

                เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของพระคัมภีร์ในการเทศน์สอนและในการสอนคำสอน เราจึงสมควรพิจารณาพระวาจาของพระเจ้าในหนังสือกิจการอัครสาวก

  บทบาทของพระคัมภีร์ในกิจการของอัครสาวก
                ลูกาได้พูดถึงบุคคลจำนวนมากที่ได้รับข่าวดีโดยการฟังคำสอนของเปโตรและเข้ารับศีลล้างบาป(กจ.2:41..) พระวาจาของพระเจ้ามีความจำเป็นสำหรับการรับศีลล้างบาป สำหรับบุคคลที่เริ่มเข้ามาร่วมกลุ่มกับผู้ที่มีความเชื่อ(กจ.4:4) ในการประกาศข่าวดีนั้นไม่ใช่จะราบรื่น แม้จะมีคนขัดขวางหรือต่อต้านแต่เราจำเป็นต้องประกาศต่อไปด้วยความกล้าหาญและความเพียรทน(กจ.4:29) การประกาศข่าวดีจำเป็นต้องอาศัยการภาวนาและความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้า(กจ.4:31) การประกาศข่าวดีเป็นงานที่สำคัญที่สุดที่จะเอางานอื่นๆมาทดแทนไม่ได้(กจ.6:2) ไม่ว่าจะเป็นงานการกุศลหรือกิจเมตตาประการใดก็ตามจะมาแทนการภาวนาและการประกาศข่าวดีไม่ได้(กจ.6:4) พระวาจาของพระเจ้าทำให้ชุมชนเกิดความรักใคร่สามัคคีปองดองและเติบโตขึ้น(กจ.6:7) ศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูเจ้าต้องมาจากการฟังและการยอมรับพระวาจาของพระเจ้า

  หนีไป-ประกาศไป
                ในยุคที่พระศาสนจักรถูกเบียดเบียนทำให้บรรดาคริสตชนต้องหลบหนีหาที่ปลอดภัยต่อชีวิต แม้จะต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ พวกเขาก็ยังประกาศข่าวดีของพระเจ้าในทุกแห่งที่พวกเขาไปอยู่(กจ.8:4)  การประกาศข่าวดีไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเสริมอย่างหนึ่งของคริสตชนที่ต้องหนีกระจัดกระจายไปยังที่ต่างๆ แต่พวกเขากระทำด้วยจิตวิญญาณอย่างและถือว่าเป็นหน้าที่อย่างแท้จริง(กจ.11:19-21)

  การประกาศต้องมีผู้นำรับรองและให้กำลังใจ
                 บรรดาคริสตชนมีความห่วงกังวลถึงความถูกต้องของข่าวดีที่พวกเขาจะต้องประกาศจึงต้องมีการตรวจสอบและปรึกษาหารือกัน พวกเขาจึงต้องการพบผู้นำเพื่อให้มายืนยันถึงความถูกต้องและแสดงออกถึงความเอาใจใส่ เปโตรและยอห์นจึงรีบรุดไปพบชาวสะมาเรียที่ได้รับพระวาจาของพระเจ้า(กจ.8:14)

  การประกาศข่าวดีแม้ลำบากแต่พระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือ
                  บรรดาศิษย์ต้องประสบความยากลำบากในการการประกาศข่าวดีและเป็นประจักษ์พยานถึงข่าวดี แต่ไม่ย่อท้อ ไปที่ไหนก็ประกาศฯที่นั้น(กจ.8:25) การประกาศพระวาจากับการแพร่ธรรมเป็นคำพูดที่มีความหมายคล้ายกัน ดังนั้นกิจการทั้งสองจึงมีความเกี่ยวพันกันและมีต้นกำเนิดจากแหล่งเดียวกันคือพระเยซูเจ้า(กจ.10:36) พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้เปิดหัวใจของผู้ฟังแต่ละคนให้เข้าใจและยอมรับพระวาจา(กจ.10:44)   แม้ว่าจะมีอุปสรรหรือถูกบางกลุ่มขัดขวางแต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกลับนำผลดีมาให้มากมาย(กจ.14:3) พระเจ้าทรงช่วยบุคคลที่ทำงานให้กับพระองค์ตัวอย่างเปาโลและบารนาบัส(กจ.14:12) เมื่อคนหนึ่งคนใดประกาศข่าวดีก็เป็นพระวาจาและตัวของพระเยซูเจ้าเองที่ได้รับการประกาศ(กจ.14:25)ในการประชุมสังคยนาที่กรุงเยรูซาเล็มเปโตรได้ใช้พระวาจาเพื่อขจัดความขัดแย้ง(กจ.15:7) คริสตชนในยุคเริ่มแรกใช้พระวาจาเพื่อตรวจสอบความถูกผิดในการกระทำ(กจ.15:15) พระวาจาทำให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจ(กจ.15:35) ตัวอย่าง ผลของข่าวดีที่ทำให้เกิดกำลังใจ เช่น ชาวเมืองเบโรอาเป็นคนที่มีจิตใจดีกว่าเมืองอื่นๆเพราะพวกเขาได้รับฟังข่าวดี(กจ.17:11)

  ผลของพระวาจา
                  อาศัยพระวาจาฯทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันไม่มีแบ่งออกเป็นกลุ่มโน้นหรือกลุ่มนี้(กจ.11:1..) พระวาจาของพระเจ้าเกิดประโยชน์และแผ่ขยายออกไปเป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก(กจ.13:5..) มีคนสนใจอยากรู้และแสวงหาพระวาจาของพระเจ้า(กจ.13:7) และมีความจำเป็นที่จะต้องมีคนอุทิศตนทำการประกาศข่าวดีและอธิบายแก่คนที่สนใจด้วย(กจ.13:15) ในเรื่องของความรอดซึ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน(กจ.13:26) จำเป็นต้องมีการประกาศพระวาจาเพื่อให้คนทั่วไปได้ยอมรับ(กจ.13:44) การที่มีบางคนไม่ยอมรับพระวาจาไม่ได้หมายความว่าเป็นความล้มเหลวแต่เป็นตัวมนุษย์เองที่ล้มเหลว ถ้าใครไม่ยอมรับหรือปฏิเสธพระวาจา เขาก็ปฏิเสธความรอด ข่าวดีก็จะไปถึงคนอื่นๆที่ยอมรับซึ่งยังคนอื่นๆอีกมากมาย(กจ.13:46..) สิริมงคลหรือเกียรติยศเป็นของพระวาจาเมื่อคนใดคนหนึ่งยอมรับ(กจ.13:48) พระวาจาของพระเจ้าเข้าไปในทุกสถานที่ ทุกกลุ่มบุคคล ทุกซอกทุกมุมของโลก(กจ.13:49)

  ต้องมีการติดตาม
                  การประกาศข่าวดีมิใช่ทำแล้วทิ้งไปแต่ต้องมีการติดตามด้วย(กจ.15:36) การประกาศข่าวดีต้องศึกษาถึงภูมิหลังของสถานที่และจังหวะเวลาด้วย(กจ.16:6)

  บ้านเป็นสถานที่สำคัญ
                   บ้านเป็นสถานที่เหมาะสมในการประกาศข่าวดีเพราะเป็นสถานที่เฉพาะบุคคลและทำให้เราสามารถพบปะได้อย่างใกล้ชิดและเฉพาะตัว(กจ.16:32)

  ต้องอุทิศตนและใช้เวลา  
                   การประกาศข่าวดีเป็นงานที่ต้องอุทิศตนอย่างเต็มที่เพื่อประกาศองค์พระเยซูเจ้า(กจ.18:5) คำเทศน์สอนต้องมีกระบวนการและต้องใช้เวลา(กจ.18:11) ลูกาได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ต่อเนื่องและทุ่มเท(กจ.19:10) จึงทำให้พระวาจาช่วยให้มนุษย์ได้รู้จักประเมินตนเองและเปลี่ยนชีวิตจิตใจประชาชน(กจ.19:20)

  สรุป
                   เราได้ตรวจถึงความสำคัญของพระคัมภีร์ในสมัยของพระศาสนจักรในยุคเริ่มแรกในฐานะที่เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อที่ทำให้ประชาชนได้รับความเชื่อและหล่อเลี้ยงความเชื่อให้เติบโตมากยิ่งขึ้น และถ้าเราพิจารณาถึงพระศาสนจักรในยุคปัจจุบันเรายิ่งจะเห็นได้ว่าพระศาสนจักรได้เน้นถึงความสำคัญของพระวาจาของพระเจ้าที่อยู่ในพระคัมภีร์ พิธีกรรมและในธรรมประเพณีต่างๆของพระศาสนจักรของเรา พระศาสนจักรในประเทศไทยของเราเกิดการตื่นตัวขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาดังจะเห็นได้จากทิศทางงานอภิบาลของพระศาสนจักรของสภาพระสังฆราช(2000-2010)ที่ระบุถึงความสำคัญของพระวาจาในการทำงานอภิบาลและการธรรมทูต ตั้งแต่วิสัยทัศน์ พันธกิจและการดำเนินกิจการต่างๆของพระศาสนจักรจะต้องวางพื้นฐานอยู่บนพระวาจาของพระเจ้า

เนื้อหาและบทเรียน