ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

การเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์แบบซีซีพี (CHRISTIAN COMMUNITY PROGRAM)
         เป็นการจัดการเรียนรู้เพื่อสอนศาสนาคาทอลิกรูปแบบหนึ่ง เป็นกระบวนการสร้างกลุ่มคริสตชน ซึ่งบาทหลวงจอห์น เอ็ม คาลเล (John M. Carle) พระสงฆ์คณะเยซูอิตได้พัฒนารูปแบบนี้ขึ้นในช่วงปี 1970 มีแนวคิดหลักในการสอนคำสอนคือ พระเยซูคริสตเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเสด็จกลับคืนพระชนมชีพที่ได้ทรงเผยแสดงพระองค์เอง (อ้างอิง สังฆธรรมนูญการเผยแสดงของพระเจ้า ข้อ 2) ในมิติด้านความเชื่อของมนุษย์ที่ตอบสนองต่อการเผยแสดงของพระเจ้า ทั้งในแบบทีละคน แบบสองคนและแบบกลุ่ม โดยการมองเครื่องหมายแห่งกาลเวลา (Sign of the times) ทั้งในระดับสังคมและระดับเทววิทยา (อ้างอิงจาก การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้จริยธรรมแบบ MCCP สำหรับปฐมวัย, ปริญญานิพนธ์ของ ซ.มาลีรัตน์ บุญอนันตบุตร หน้า 80)

การเริ่มต้นคำสอนซีซีพีในประเทศไทย
          การเริ่มต้นของคำสอนซีซีพีในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นจากความคิดริเริ่มและพร้อมใจกันของศิษย์เก่าของสถาบันอบรมงานอภิบาลสำหรับเอเชียตะวันออก(East Asian Pastoral Institute - EAPI) ซึ่งประกอบด้วยพระสงฆ์และนักบวชหลายท่านได้ปรึกษากันว่าจะนำความรู้ที่ได้รับการอบรมเรื่องงานอภิบาลที่ประเทศฟิลิปปินส์รวมทั้งคำสอนซีซีพีมาเผยแพร่เพื่อทำประโยชน์ให้พระศาสนจักรในประเทศไทย ซึ่งมีพระสังฆราชยอแซฟเอก ทับปิงเป็นหัวหน้าและคุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการอบรมการสอนคำสอนแบบซีซีพี โดยได้จัดการอบรมครั้งแรกขึ้นในปี 1975 ณ ศูนย์สังฆมณฑลจันทบุรี ศรีราชา ปรากฏว่าได้รับความสนใจมาก จึงได้จัดครั้งที่ 2 ในปี 1976 ณ ศูนย์สังฆมณฑลเชียงใหม่ ครั้งที่ 3 ในปี 1980 และครั้งที่ 4 ในปี 1981 ที่วิทยาลัยแสงธรรม และต่อมายังได้จัดอบรมสำหรับครูคำสอนอีกหลายครั้ง

         เมื่อการสอนคำสอนแบบซีซีพีได้เริ่มแพร่หลายไป สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ก็ได้ให้ความสนใจและให้การสนับสนุนโดยกล่าวว่า “คำสอนปัจจุบันเริ่มสนใจให้แนวทางปฏิบัติด้านศาสนสัมพันธ์และการประยุกต์วัฒนธรรมให้เข้ากับชีวิตคริสตชนบ้างแล้ว คำสอนยังเพิ่มการสัมพันธ์กับชีวิตและแก้ปัญหาสังคม อาศัยการสอนคำสอนแบบซีซีพี (CHRISTIAN COMMUNITY PROGRAM) เป็นวิธีการสอนคำสอนต้องตรงกับวิธีการสอนปัจจุบันและของชาวเอเชีย ซึ่งเป็นวิธีอุปนัย (Inductive method) วิธีการนี้ปัจจุบันจัดเป็นแบบแผนและได้ใช้แล้วในรูปแบบของการสอนคำสอนแบบซีซีพี สภาพระสังฆราชจึงขอสนับสนุนวิธีการนี้” (อ้างอิง การประชุมสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย วันที่ 2-5 พฤศจิกายน 1976)

โครงการคำสอนซีซีพีของสังฆมณฑลราชบุรี
         ในปี 1976 สังฆมณฑลราชบุรีได้ตั้งศูนย์คำสอนขึ้น โดยมีคุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ เป็นผู้อำนวยการจึงได้เริ่มผลิตโครงการสอนคำสอนซีซีพีขึ้นเดือนละ 2 โครงการ ส่งไปตามวัด โรงเรียนและสถาบันต่าง ๆ ที่สนใจเพื่อใช้อบรมนักเรียน เยาวชนและผู้ใหญ่ และส่งเสริมชีวิตคริสตชนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยแต่ละปีจะกำหนดหัวข้อของบทเรียนตามสัญญาณแห่งกาลเวลา

5 หลักการของคำสอนซีซีพี
       1. สัญญาณแห่งกาลเวลา (Sign of the times)
คือพระเจ้าทรงเผยแสดงพระประสงค์ของพระองค์ให้เราทราบทางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งทางส่วนตัวและส่วนรวม และการเผยแสดงนี้ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนสิ้นพิภพ (on going Revelation) ดังนั้น หน้าที่ประการแรกของการสอนคำสอนตามหลักการของซีซีพี คือ การค้นหานิมิตหมายแห่งกาลเวลา เพื่อทราบพระประสงค์ของพระเจ้า และนำไปปฏิบัติในชีวิต
       2. ปลุกความตื่นตัว (Awareness)
คือการตื่นตัวรับรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้า เพื่อปลุกจิตสำนึกของผู้เรียนให้รับรู้และเปิดใจตอบรับการเผยแสดงของพระองค์
       3. สร้างกลุ่มคริสตชน (Community Building)
เพราะแผนการแห่งความรอดของพระเจ้ามีไว้สำหรับมนุษย์ทุกคน ดังนั้นหลักการของซีซีพี คือการสร้างกลุ่มคริสตชน เพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ให้บรรลุถึงจิตตารมณ์ของกลุ่มคริสตชนสมัยแรกเริ่ม และท่ามกลางกลุ่มคริสตชน คือการปฏิบัติความเชื่อและหล่อเลี้ยงความเชื่อนั้นให้เติบโตยิ่งขึ้น
       4. อาศัยการทำงานประสานกันในทุก ๆ ฝ่าย  (Concerted action)
หลักการนี้เน้นจิตตารมณ์กลุ่มในหมู่คณะของผู้สอน ตามบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไป เช่น ของพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช ครูคำสอน พ่อแม่และพี่น้องคริสตชนทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องในการสอนคำสอน
       5. ทัศนคติแบบคริสตชน (Christian Attitude)
เป็นการเน้นทัศนคติแบบคริสตชนมากกว่าความรู้ โดยเน้นให้ผู้เรียนเกิดความซาบซึ้งในคุณค่าและมีทัศนคติที่ดีทางศาสนา ก่อให้เกิดแรงผลักดันและมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติศาสนกิจหลักการนี้จึงเน้นที่การนำความรู้จากสติปัญญาให้เชื่อมโยงไปจนถึงจิตใจและกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

วิธีการสอนของคำสอนซีซีพี 4 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 ประสบการณ์ (Sensitive)
               คือการเรียนรู้ผ่านทางประสบการณ์ของผู้เรียน โดยเน้นที่กิจกรรมผ่านทางประสาทสัมผัสทั้งห้าของผู้เรียน หรือเหตุการณ์สิ่งแวดล้อม ที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้เรียน เช่น ได้สัมผัส ได้เห็น ได้ฟัง ได้อ่าน หรือเคยมีประสบการณ์มาก่อน

ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์ (Cognitive)
               คือ การวิเคราะห์สัญญาณแห่งกาลเวลาหรือวิเคราะห์ประสบการณ์ส่งผ่านไปยังสติปัญญา เพื่อวินิจฉัย ค้นพบพระประสงค์ของพระเจ้าและทราบว่าจะตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้านั้นได้อย่างไร

ขั้นตอนที่ 3 เนื้อหาคำสอน (Affective)
              เนื้อหาคำสอนหรือการประกาศข่าวดี เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยมุ่งให้เนื้อหาที่สอนนั้นให้ความสว่างและสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความประทับใจว่าเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า น่ารับไว้ และกระหายหาที่จะได้รับความดีนั้น เป็นข่าวดีสำหรับผู้เรียน ให้ตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างดีและถูกต้อง ซึ่งเนื้อหาคำสอนนี้ได้มาจากพระวาจาของพระเจ้าในพระคัมภีร์ คำสั่งสอน อธิบายความของพระศาสนจักร และแบบอย่างชีวิตของบรรดานักบุญที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาเป็นตัวอย่าง เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 4 การปฏิบัติ (Effective)
              เมื่อจิตใจรับรู้ว่าสิ่งใดดีก็ย่อมผลักดันให้ผู้เรียนกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนนี้เรียกว่า “การปฏิบัติ” การสอนคำสอนจะครบวงจรก็ต่อเมื่อปรากฏผลออกมาในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อข่าวดีที่ได้เรียนมา โดยเริ่มจากการปฏิบัติต่อตนเองและปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วย

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์