ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

คุณค่าพระวรสารฯ บทเรียนที่ 10 มีความสุขในความเรียบง่ายและพอเพียง

คุณค่าพระวรสารฯ บทเรียนที่ 10
มีความสุขในความเรียบง่ายและพอเพียง

จุดประสงค์
เมื่อจบบทเรียนแล้ว ผู้เรียนสามารถ
         1. อธิบายความหมายของคำว่าพอเพียงได้
         2. รักและชื่นชมชีวิตที่เรียบง่ายและพอเพียงของพระเยซูเจ้าและนักบุญฟรังซิส
         3. เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนมี ดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง และใช้สิ่งของอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า

 

กิจกรรม   ทุกสิ่งมีประโยชน์และมีคุณค่า
ผู้สอนเตรียมสิ่งของ 3-5 อย่างมาให้ผู้เรียนช่วยกันพิจารณาว่าสิ่งของที่ผู้สอนเตรียมมานั้นมีจุดประสงค์หรือประโยชน์ในการใช้อย่างไร และจะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นให้คุ้มค่ามากที่สุดได้อย่างไรได้บ้าง (อาจให้แข่งกันเป็นกลุ่มก็ได้)

สิ่งของ/ สิ่งแวดล้อม จุดประสงค์/ ประโยชน์ การใช้ให้คุ้มค่า
ดินสอ วาด เขียน จดบันทึก... ใช้แล้วเก็บให้ดี ใช้จนเหลือน้อยที่สุด ไม่ทำหาย
เงิน ใช้จ่าย ซื้อของกินของใช้.. ซื้อของที่มีประโยชน์ จำเป็นไม่เล่นการพนัน...
น้ำ ดื่ม ชำระล้าง ทำอาหาร การขนส่ง ผลิตกระแสไฟฟ้า... ดื่มน้ำบ่อย ๆ ไม่เปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ ใช้อย่างประหยัด ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำ...
เสื้อผ้า ใส่ปกปิดร่างกาย สวยงาม กันร้อน กันหนาว... ดูแลรักษาความสะอาด หากมีมากเกินไปก็นำไปบริจาคให้คนยากจน...
หนังสือ ให้ความรู้ ข่าวสาร... ขยันอ่านหนังสือ รักษาไม่ให้ฉีกขาดส่งต่อให้คนที่ต้องการอ่าน นำไปเป็นขยะรีไซเคิลได้เมื่อไม่ใช้แล้ว...

 

            สรุป สิ่งของทุกชนิดทั้งที่มีอยู่ในธรรมชาติ และที่พระเจ้าได้ประทานสติปัญญาให้มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตของเราทุกคน

 

คำสอน            

             1. คนไทยจะคุ้นเคยกับคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งรู้กันว่าเป็น“แนวพระราชดำริ” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517เป็นต้นมา “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนา ที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง โดยปรับเปลี่ยนความคิด นิสัย พฤติกรรมและวิธีการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายและพอเพียง มีความพอประมาณ พอดี ไม่เบียดเบียนตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

             2. ความพอเพียง เป็นคุณธรรมที่ให้สร้างสมดุลในการใช้สิ่งดีงามที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา ช่วยให้เราควบคุมน้ำใจเหนือสัญชาติญาณ และรักษาความต้องการไว้ภายในขอบเขตที่เหมาะสม

 

นักบุญฟรังซิส อัสซีซี             3. พระเยซูเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของการเจริญชีวิตเรียบง่าย คือทรงอยู่กับประชาชนคนธรรมดา อยู่กับใครก็ได้ทุกระดับ ทั้งคนจนและคนรวยทุกคนสามารถเข้าหาพระองค์ได้แม้แต่เด็ก ๆ (ลูกา 18:16) พระองค์ทรงสอนเราในเรื่องใจยากจน มีใจพอเพียง ซึ่งเป็น “ความสุขแท้” ดังพระวาจาที่ว่า “ผู้ใดมีใจยากจนย่อมเป็นสุข” (มัทธิว 5:3)ใจยากจน แสดงถึงความพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ไม่ยึดติดกับสิ่งของทางโลก ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ มีความเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง ดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับฐานะของตนเอง ไม่ละโมบโลภมาก ไม่อยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน

 

            4. นักบุญฟรังซิส อัสซีซี เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตตามอย่างของพระเยซูเจ้า ท่านเกิดที่เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี เป็นบุตรชายของพ่อค้าที่รํ่ารวย ขณะยังหนุ่มเป็นคนชอบสนุกสนาน ครั้งหนึ่งท่านป่วยหนักและได้ยินพระเยซูเจ้าเจ้าตรัสเรียกท่านให้สละความสุขฝ่ายโลกและติดตามพระองค์ ท่านจึงกลับไปเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่โดยยึดพระวรสารที่ว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มัทธิว 25:40) ท่านได้พยายามเจริญชีวิตตามคำสอนของพระเยซูเจ้า ละความเห็นแก่ตัว และมอบตนเองแด่พระเจ้าเจริญชีวิตยากจน เรียบง่าย ช่วยเหลือคนจน สละสมบัติอันเป็นมรดกของท่านและทำงานรับใช้คนโรคเรื้อน ต่อมามีผู้ศรัทธาในการดำเนินชีวิตของท่าน ทั้งเยาวชนชายและหญิงมาขอเจริญชีวิตกับท่าน ท่านได้แนะนำให้สมาชิกเหล่านี้ยึดถือตามอุดมคติแห่งพระวรสาร ให้เป็นคนสุภาพถ่อมตน อ่อนหวาน ร่าเริง จริงใจ เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า กับธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ทุกคน ท่านเน้นให้สมาชิกต้องทำงานเลี้ยงชีพด้วยนํ้าพักนํ้าแรงของตน และนำทรัพย์สินทั้งวัตถุและจิตใจมารวมเป็นกองกลางเพื่อแบ่งปันกัน สมาชิกเหล่านี้ได้พัฒนาเป็นคณะนักพรต “ฟรังซิสกัน” และคณะนักพรตหญิง “คลาริส” และคณะฆราวาสฟรังซิสกัน

 

            5. เราควรใช้ชีวิตตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า โดยเริ่มจากรู้จักประหยัดใช้ทรัพย์สินเท่าที่ตนเองมี เช่น เงิน สิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ อย่างรู้คุณค่าใช้ให้คุ้มค่า เก็บรักษาดูแลอย่างดี ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้อย่างเหมาะสม ใช้ทรัพยากรของส่วนรวมอย่างประหยัด ด้วยการลด ละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีวิตอย่างจริงจัง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ดำเนินชีวิตอย่างพอประมาณมีเหตุผลและคิดให้รอบคอบ ก่อนที่จะใช้เงินทองหรือสิ่งของต่าง ๆ

 

ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
          1. ความพอเพียง เป็นคุณธรรมที่ให้สร้างสมดุลในการใช้สิ่งดีงามที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา ช่วยให้เราควบคุมน้ำใจเหนือสัญชาติญาณ และรักษาความต้องการไว้ภายในขอบเขตที่เหมาะสม
          2. พระเยซูเจ้าสอนเราในเรื่องใจยากจน ใจพอเพียงนั้นเป็น “ความสุขแท้” ดังพระวาจาที่ว่า “ผู้ใดมีใจยากจนย่อมเป็นสุข” (มัทธิว 5:3)
          3. ใจยากจน หมายถึงความพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ไม่ยึดติดกับสิ่งของทางโลก ดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับฐานะของตนเอง ไม่ละโมบโลภมาก ไม่อยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน
          4. นักบุญฟรังซิส อัสซีซี เจริญชีวิตตามคำสอนของพระเยซูเจ้า โดยละความเห็นแก่ตัวและมอบตนเองแด่พระเจ้า ถือความยากจน เรียบง่ายและพอเพียง
          5. เราต้องดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้าได้ โดยใช้ทรัพย์สินเท่าที่ตนมีอย่างรู้คุณค่า

ข. กิจกรรมสรุปบทเรียน

       ให้ผู้เรียนสำรวจทรัพย์สินที่มีอยู่กับตัวว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ และในแต่ละวันผู้เรียนได้ใช้สิ่งของที่มีเหล่านั้นอย่างไร ได้ใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่

ค. การบ้าน
       ให้ผู้เรียนทำบัญชีค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน พิจารณาว่าตนเองใช้เงินวันละเท่าไรและหาวิธีที่จะช่วยผู้ปกครองประหยัดมากขึ้นได้อย่างไร


::: Download  บทเรียนที่ 10 ::

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์