ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

 เราจะเล่าเรื่องให้ดีได้อย่างไร ?
เราจะเล่าเรื่องให้ดีได้อย่างไร ?

ก.   หลักการเล่าเรื่องทั่ว ๆ ไป
     1. จงเล่าให้เป็นรูปธรรม
          เรื่องที่ไม่เป็นรูปธรรมเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ เพราะมันไม่มีคุณสมบัติของเรื่องเล่า ดังนั้น เราจงหลีกเลี่ยงการเล่าแบบสรุป และการเล่าแบบนามธรรมหรือลอย ๆ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องในอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้น เราจึงมีกฎสำหรับการเล่าเรื่องที่ดีดังนี้ คือ การเล่าให้เป็นรูปธรรม และถ้าเราต้องการให้การเล่าเรื่องของเรามีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น เราอาจจะสร้างฉากขึ้นมาประกอบการเล่าเรื่อง หรือให้มีเด็กมาร่วมแสดงเป็นตัวประกอบแทนบุคคลที่อยู่ในเรื่องที่เรา  หรือการใช้อุปกรณ์เข้าช่วย ก็จะช่วยให้เรื่องเล่าของเราน่าสนใจมากยิ่งขึ้น การให้มีอะไรเคลื่อนไหวผ่านสายตาของเด็ก ๆ จะช่วยดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ ได้

         ถ้าเราเล่าเรื่องได้อย่างดี เด็กจะให้ความสนใจบทเรียนของเราตั่งแต่เริ่มแรก เราควรพยายามจูงใจเขาด้วยเรื่องเล่าต่าง ๆ เราต้องให้เด็ก ๆ ของเราได้ใช้จินตนาการติดตามการเล่าของเราไปให้ตลอด และจะเป็นการดีที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้จินตนาการเข้าไปในเรื่องที่เราเล่านั้น โดยสมมติตนเองเป็นคนใดคนหนึ่งในเรื่องที่เราเล่านั้น

      2. ดึงขึ้นไปสู่เรื่องของจิตใจ
             อย่าลืมว่าเรื่องเล่าเป็นเพียงแค่สื่อหรืออุปกรณ์ที่ทำให้เด็กได้คิดถึงเรื่องที่สูง เรื่องที่ลึกไปกว่านั้น เราไม่ได้เล่าเรื่องให้เด็กฟังเพื่อเป็นการฆ่าเวลา หรือเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น เมื่อเรานำเสนอเรื่องเล่า หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในการสอนคำสอน เราจะต้องนำความคิดของพวกเด็ก ๆ ให้สูงขึ้นไปกว่าความหมายจากเรื่องธรรมดานั้น เราต้องจูงความคิดของเด็กให้ขึ้นไปสู่ความหมายที่สูงกว่า นั้นคือสู่เรื่องของพระเจ้า สิ่งนี้ต้องการบรรยากาศที่ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องใช้ความตั้งใจและต้องใช้สมาธิที่ดี โดยให้เด็กเกิดความรู้สึกที่อยากจะแสดงถึงความรู้สึกภายในที่ได้จากเรื่องนั้น ๆ ซึ่งอาจจะแสดงออกโดยการขอบพระคุณพระเจ้าถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ดี หรือขอโทษต่อพระเจ้าถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากความหลงผิดของมนุษย์ ฯลฯ ซึ่งก็คือ การสวดภาวนาติดต่อกับพระเจ้านั้นเอง

ข. เทคนิคการเล่าเรื่อง
    
1. เล่าจากรายละเอียดไปสู่ความหมายที่ลึกกว่า
         จุดมุ่งหมายในการเล่าเรื่องของเราคือการเชิญชวนเด็ก ๆ ให้เข้าไปอยู่ในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราเล่าด้วย ดังนั้นเราจะต้องเล่าเรื่องโดยพยายามให้ทุกอย่างอยู่ใกล้ตัวเด็ก ให้พวกเขานึกภาพออก อย่าเล่าโดยต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรื่อง ต้องเล่าอย่างมีชีวิตชีวา และให้บรรยากาศของเรื่องเป็นบรรยากาศที่เด็ก ๆ คุ้นเคย หรือเข้าใจได้ไม่ยาก

         ถ้าเราต้องการเล่านิทานเปรียบเทียบเรื่อง เงินเหรียญที่หายไป หรือไข่มุกราคาแพง เราจะไม่ต้องเปรียบเทียบพระอาณาจักรของพระเจ้ากับเพชรหรือเงิน หรือต้องการให้เด็กเข้าใจเรื่องไข่มุกหรือเหรียญ แต่เราต้องการที่จะพูดให้เด็ก ๆ เห็นทัศนคติ ความรู้สึกและการกระทำของชายคนนั้นที่ยอมขายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะมาซื้อสิ่งที่มีคุณค่ามากในสายตาของเขา หรือหญิงคนนั้นที่กวาดบ้านเพื่อค้นหาเหรียญเงินที่ขาดไปและมื่อพบแล้วก็มีความยินดี

         สำหรับเรื่องอัศจรรย์ เราก็ต้องทำอย่างเดียวกัน ถ้าเราต้องการให้เด็ก ๆ ของเราได้เห็นคุณค่าทางศาสนาหรือคำสอนจากเรื่องของพายุที่ทะเลสาป เราคงไม่เสียเวลาไปกับการอธิบายเรื่องของพายุเอง แต่เราจะนำเด็ก ๆ ให้พิจารณาถึงทัศนคติของเราแต่ละคนที่ต้องตกอยู่ในพายุ

         ดังนั้น เราควรดำเนินการดังนี้ จากวัตถุสิ่งของไปสู่กิจการต่าง ๆ และจากกิจการต่าง ๆ ไปสู่ความตั้งใจ ความนึกคิดและความรู้สึก ถ้าเราเลือกรายละเอียดภายนอกอย่างดี เราก็สามารถที่จะดึงให้เด็ก ๆ ได้เห็นโลกภายในคือโลกแห่งจิตใจได้ดี

         การเล่าเช่นนี้จะนำเด็ก ๆ ได้ค้นพบกับความคิด ความตั้งใจหรือน้ำพระทัย และความปรารถนาของพระเยซูเอง ด้วยวิธีการนี้รหัสธรรมของพระเยซูเจ้าจะค่อย ๆ เปิดเผยออกมาสู่จิตใจของเด็ก ๆ และจะก่อให้เกิดความศรัทธา และเห็นคุณค่าของชีวิตแห่งการเป็นศิษย์ของพระเยซูคริสต์ และเข้าร่วมในแผนการไถ่บาปของพระองค์

      2. อันตรายสองประการที่ควรระมัดระวัง
          2.1   การเล่าเรื่องที่ให้ความสนใจแต่เรื่องภายนอก ไม่ได้นำเด็ก ๆ ให้คิดถึงความหมายที่อยู่ภายใน ซึ่งการเล่าแบนี้ไม่ใช่การเล่าเพื่อการสอนคำสอน ถ้าเราเล่าเรื่องแค่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เท่านั้น เราก็จะปิดกั้นความคิดของเด็ก ๆ เราอย่าลืมว่าในกิจการหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นมีพระเจ้าอยู่ และพระเจ้าต้องการสอนเราโดยผ่านทางเหตุการณ์เหล่านั้น เช่น การเรียกอับราฮัม เด็กธรรมดา ๆ ก็ยังเข้าใจได้ว่าพระเจ้ามิได้เรียกแค่อับราฮัมเท่านั้น แต่พระเจ้ายังคงเรียกพวกเราทุกคนอยู่จนถึงทุกวันนี้ และตัวเขาเองจะต้องรู้สึกว่าพระเจ้าทรงเรียกตัวเขาเองโดยเฉพาะด้วย

                 การชี้ให้เห็นหลักศีลธรรมที่อยู่ในเรื่องนั้น ๆ ยังไม่เพียงพอสำหรับการสอนคำสอน เราจะต้องจบการเล่าเรื่องของอับราฮัมด้วยบทเรียนในเรื่องของการนบนอบต่อคุณพ่อคุณแม่ โดยที่เราจะต้องค้นหาความหมายที่แท้จริงของเรื่องนี้ให้ได้เสียก่อน แล้วเชื่อมโยงเข้าหาสถานะการณ์จริงของเด็ก ๆ จากตัวอย่างของอับราฮัม พระเจ้าทรงเรียก มนุษย์ได้ตอบรับด้วยความเชื่อ นี้เป็นความหมายที่แท้จริงประการหนึ่งที่เราจับได้เพื่อการสอนคำสอนให้แก่เด็ก เราอาจจะเปลี่ยนการนบนอบนี้ ให้เป็นบทเรียนสำหรับเด็กๆให้พวกเขามีความเชื่อมั่นในพระวาจาของพระเจ้าก็ได้

          2.2   การพยายามเปรียบเทียบที่ไม่ตรงกับเจตนาของเรื่องเล่า เป็นการสรุปที่ไม่ตรงประเด็นหรือสรุปเกินความเป็นจริง หรือเป็นการลากเข้าเรื่องแบบข้าง ๆ คู ๆ ยิ่งเป็นเรื่องที่มาจากพระวรสารแล้ว เราจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะจะก่อให้เกิดความสับสนและการเข้าใจผิดได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องการถวายพระกุมารในพระวิหาร เราต้องการที่จะให้เด็ก ๆ ได้พิจารณาถึงความเชื่อของซีเมโอน เราอาจจะพูดว่า “ซีเมโอนเมื่อเห็นพระกุมารก็รู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ไถ่” และพูดต่อไปว่า “เราเองด้วย เราจะต้องมองดูพระเยซูคริสต์ว่าเป็นพระผู้ไถ่ ในตัวของเด็ก ๆ ทุกคน เป็นต้นในคนที่ยากจนที่สุด”

           ครูคำสอนที่ดีไม่ใช่เป็นคนทีเล่าเรื่องได้เก่งหรือเล่าได้สนุก ไม่ใช่คนที่มีเรื่องเล่าอยู่ในหัวมากมาย ครูคำสอนที่ดีคือคนที่รู้จักเริ่มการเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ที่อยู่ใกล้ตัวอย่างเห็นจริงเห็นจังเพื่อนำเด็ก ๆ ไปสู่ความจริงในเรื่องของจิตใจ ช่วยเขาให้เข้าไปสู่โลกแห่งความเชื่อ มีชีวิตในความเชื่อที่แท้จริงต่อพระเจ้า

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์