จดหมายเปิดผนึก...ถึงเพื่อน...ผู้ร่วมงาน
Love Letter 10
การสร้างเด็กให้มีวินัย
เพื่อนผู้ร่วมงานที่เคารพ
         เพื่อน ๆ คิดและรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยันคำว่า “วินัย” ...นึกถึงเสียงห้าว ๆ ของใครบางคนที่สั่งให้เราทำโน้นทำนี้ หรือเสียงห้ามปราม เสียงบ่น หรือการลงโทษด้วยรูปแบบต่าง ๆ

      เรามักจะมีภาพลบเกี่ยวกับวินัยหรือระเบียบจนไม่ได้นึกถึงความหมายที่แท้จริงของมัน เพื่อน ๆ หลายท่านอาจจะมีคำถามในใจว่า “ฉันจะสอนคำสอนเรื่องของความเชื่อต่อพระเจ้าด้วยความรักและความสุข ในขณะที่ต้องควบคุมเด็กให้อยู่ในระเบียบวินัยได้อย่างไร” ความจริงแล้วคำว่า “ระเบียบ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า discipline มาจากรากศัพท์ของคำว่า disciple ซึ่งแปลว่า “ศิษย์” หรือ follower “ผู้ติดตาม” ดังนั้นคำว่า “วินัย” จึงเป็นคุณสมบัติที่ดีงามและจำเป็นสำหรับชีวิตของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นศิษย์ของพระเยซูคริสตเจ้า

การสร้างเด็กให้มีวินัย

วินัยเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะต้องฝึกฝนศิษย์ของเรา
            วินัยเป็นสิ่งสำคัญของครูคำสอน ไม่ใช่เพราะว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าในห้องเรียนไม่มีวินัยเท่านั้น แต่วินัยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้หรือการพัฒนาเด็กๆของเราด้วย คนที่มีวินัยก็คือ คนที่รู้จักควบคุมตนเอง การควบคุมตนเองเป็นพื้นฐานของการเติบโตในชีวิตของคริสตชน พระเยซูเจ้าเองในฐานะที่เป็นครูต้นแบบของเราได้สอนไว้ว่า “จิตใจพร้อมแล้วก็จริง แต่เนื้อหนังอ่อนกำลัง”(มก. 14:38) ธรรมชาติในตัวมนุษย์เรานั้นมักจะผลักดันเราให้ฟุ้งซ่านไปหลายทิศหลายทาง และถ้าเราเป็นคนที่ไม่มีวินัย ชีวิตของเราคงไม่รู้ว่าจะไปหยุดอยู่ ณ ที่ใด

            ถ้าเราคิดว่าวินัยช่วยทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตเป็นศิษย์แท้ของพระเยซูคริสตเจ้าได้ เราก็จะรักวินัยและวินัยจะช่วยให้เราเติบโต แต่ถ้าตรงกันข้าม เราคิดว่าวินัยจำกัดเสรีภาพของเรา เราก็จะปฏิบัติตามวินัยด้วยความอึดอัด และพร้อมที่จะต่อต้านหรือหลีกเลี่ยง อย่างนี้เราก็จะเสียโอกาสที่จะพัฒนาตัวตนของเรา ประเด็นสำคัญในฐานะที่เราเป็นครูคำสอนคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้เด็ก ๆ ของเราเป็นเด็กที่รักวินัย

 

จงสอนวินัยด้วยแบบอย่างของท่าน
           ตัวของท่านเองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่จะรักษาวินัยในห้องเรียนและเสริมสร้างเด็ก ๆ ของเราให้รักวินัย พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 กล่าวในการประชุมฆราวาสว่า “คนสมัยใหม่นี้ตั้งใจฟังประจักษ์พยานมากกว่าฟังครู และถ้าพวกเขาจะฟังครู ก็เพราะครูได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน” (พระสันตะปาปา ปอลที่ 6 วันที่ 2 ตุลาคม 1974) เรื่องนี้เป็นความจริงสำหรับเด็กๆของเราด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งแต่วันแรก ๆ ของการสอน ขณะที่ท่านยืนอยู่ต่อหน้าเด็ก ๆ พวกเขาจะคอยสังเกตทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านปฏิบัติต่อพวกเขา พวกเขาอาจจะไปรู้ว่าท่านมีความรู้มากน้อยแค่ไหน หรือเรียนจบมาจากสถาบันใด แต่พวกเขาจะสัมผัสได้ว่าท่านเป็นคนมีวินัยในการสอนหรือไม่ จากการดูว่าท่านสามารถควบคุมตนเองในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้อย่างไร  ถ้าท่านเป็นคนที่มีวินัย ท่านคงไม่เกรียวกราดหรือแสดงอาการโกรธใส่พวกเขา ยิ่งกว่านั้นพวกเด็กๆจะสังเกตท่าทีในการเข้าหาพวกเขา เราห่วงใยพวกเขาไหม เต็มใจสอนพวกเขาไหม สอนด้วยความสุขไหม กระตือรือร้นที่จะสอนพวกเขาไหม มีเรื่องดีๆหรือสนุก ๆ มาแบ่งปันให้พวกเขารับรู้ไหม

 

ท่าทีของท่านในการสอน
         ขอให้ท่านทำความรู้จักเด็ก ๆ ของท่านเป็นรายบุคคล เด็ก ๆ เองก็เป็นเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่ต้องการให้คนสนใจ จงเรียกชื่อเขา และควรเรียนรู้ว่าใครจำเป็นต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษอย่างไร ถ้าท่านให้ความสนใจพวกเขา รักพวกเขา ห่วงใยพวกเขา พวกเขาก็จะแสดงความรู้สึกที่ดีต่อท่านเช่นกัน “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด” (มธ 7:12)

          ขอให้ท่านมีท่าทีที่อบอุ่นและมีความเป็นมืออาชีพ จงแสดงให้เด็ก ๆ เห็นถึงความมั่นใจ การมีวินัย การเป็นคนที่มีวุฒิภาวะ มีความพร้อมและความกระตือรือร้นที่จะแบ่งปันความเชื่อให้พวกเขา

          ท่านต้องมีความรู้สึก “เคารพและให้เกียรติ” เด็ก ๆ ของท่าน ถ้าท่านเคารพและให้เกียรติพวกเขา พวกเขาก็จะแสดงความเคารพนับถือท่าน แต่ถ้าท่านดูถูก เหยียดหยาม หรือรังเกียจพวกเขา ท่านก็จะได้ความรู้สึกเช่นนั้นกลับมาเช่นกัน

          จงฟังเด็กๆแต่ละคนด้วยความตั้งใจ ฟังเรื่องที่เขาพูดคุยหรือความคิดเห็นของเขา ต้องไม่แสดงความรังเกียจ เยาะเย้ย ถากถาง ดูถูก ในทุกสถานการณ์ เฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนคำสอน

       ท่านจะต้องแสดงให้เด็ก ๆ เห็นว่าท่านมีความคาดหวังสิ่งที่ดี ๆ จากพวกเขา ไม่มีใครที่จะเป็นตัวปัญหาในห้องเรียนของเรา แม้ว่าจะเคยได้ยินกิติศัพท์มาก่อนว่าหลายคนเป็นตัวปัญหาในวิชาอื่น ๆ ท่านต้องให้โอกาสเด็ก ๆ เหล่านั้นได้เริ่มต้นใหม่ในการเรียนคำสอนกับท่าน

         พยายามรักษาอารมณ์ให้มั่นคง เพิ่มอารมณ์ขันและความสัมพันธ์ที่ดีกับศิษย์ของท่าน ครั้งหนึ่งในการสอนเด็กประถมปีที่สาม ผมถามเด็กคนหนึ่งว่า “เราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะได้เข้าสู่สวรรค์” คำตอบที่ถูกคือ “เพื่อที่จะเข้าสวรรค์ได้นั้น เราจะต้องรู้จักพระเจ้า รักพระเจ้า และรับใช้พระเจ้า” แต่เด็กชายคนนั้นตอบว่า “เราต้องเป็นเด็กดี เงียบเวลาครูสอน และทำการบ้านครับ” ผมคิดว่านี่เป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมมากจากเด็กคนนั้น แม้ว่าเขาจะเป็นเด็กที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนนักก็ตาม ผมยิ้มให้เขา ชมเชยเขา แสดงให้เขารู้ว่าผมยอมรับคำตอบของเขา

 

การสอนของท่าน
         จงเตรียมตัวให้พร้อม ทำความเข้าใจในบทเรียนให้ถ่องแท้และเตรียมสื่ออุปกรณ์ก่อนล่วงหน้าเพื่อให้การนำเสนอของท่านเป็นไปด้วยความราบรื่น เริ่มการสอนให้ตรงเวลา รู้ว่าจะต้องทำอะไร จะพาลูกศิษย์ไปทางไหน สอนด้วยความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่จะสร้างปัญหาด้านวินัยในห้องเรียนนอกจากการสอนที่ไม่ได้เตรียมของท่านนั้นเอง

         อย่ากลัวที่จะบอกว่าตนเองไม่รู้ หรือตอบคำถามเด็ก ๆ ไม่ได้ ท่านก็ยังคงเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ท่านจะต้องให้ศิษย์มั่นใจว่าจะได้รับคำตอบในครั้งต่อไป (รับปากแล้วต้องทำด้วยนะครับ)

 

การแก้ปัญหาในห้องเรียน
        ให้ท่านสอนไปตามลำดับที่ท่านได้เตรียมไว้ การสอนตามลำดับขั้นตอนไม่ได้หมายความว่าจะยืดหยุ่นไม่ได้ แต่หมายถึงการทำให้การสอนของท่านดำเนินไปอย่างราบรื่นเท่าที่จะทำได้ โดยไม่มีอะไรมาขัดขวางอย่างไม่จำเป็น เหมือนสายน้ำที่ไหลรื่นไปตามลำธารโดยไม่มีสิ่งปฏิกูลมาขัดขวาง (ถ้ามีต้องเอาออก) ให้ท่านตกลงกับเด็ก ๆ ในการสร้างกฎระเบียบง่าย ๆ สั้น ๆ ขึ้นมาสัก 2-3 ข้อที่ทุกคนสามารปฏิบัติได้ พิมพ์หรือเขียนติดวินัยนั้นหน้าห้องที่ทุกคนเห็นได้ตลอดเวลา ทำความเข้าใจกับสมาชิกทุกคน และให้ปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่วันนี้ห้ามทำแต่พรุ่งนี้อนุญาตให้ทำได้ จงให้ความยุติธรรม ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน และพยายามทำความรู้จักเด็กแต่ละคนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

         จงเรียนรู้ที่หาจังหวะที่จะยืนยันถึงความถูกต้องในห้องเรียนด้วย เด็ก ๆ เองก็รู้ว่าอะไรที่ควรหรือไม่ควรทำ ควรโดนตำหนิหรือไม่ ถ้ามีเด็กคนใดที่รบกวนความสงบสุขหรือวินัยของห้องเรียน ท่านควรที่จะนิ่งเงียบและใช้สายตามองเขาอย่างจริงจังเจาะจง(ลงโทษด้วยสายตา) หรือเดินเข้าไปหา ยืนอยู่ใกล้ ๆ เขา

       ในบางครั้งท่านจะต้องมองข้ามความผิดที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเจตนาของเด็ก ๆ หรือไม่ควรแปลความผิดเล็กๆให้ใหญ่โตเกินความเป็นจริง ไม่ควรมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างเกินเหตุเกินควร ควรวินิจฉัยอุปสรรคที่เกิดขึ้นด้วยใจเป็นธรรม บางกรณีท่านควรปิดหูปิดตาบ้างก็ได้

 

การสร้างเด็กให้มีวินัย
         ท่านจะช่วยเด็ก ๆ ให้เป็นคนที่รักวินัยได้อย่างไร ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำบางประการเพื่อนำไปปฏิบัติ คือ ให้จูงใจเด็ก ๆ โดยการเล่าประวัติชีวิตของบรรดานักบุญ วีรบุรุษ วีรสตรี ให้เด็กฟัง

        บรรดานักบุญนั้นไม่ได้ประสบผลสำเร็จเป็นผู้สำคัญของศาสนาโดยที่เป็นคนที่ไม่มีวินัย ตัวอย่างของนักบุญจำนวนมาก เช่น น. เทเรซาแห่งพระกุมารเยซู น.ทาร์ซีซีโอ น.มารีอากอแรตตี น.แบรนาแด็ท คุณแม่เทเรซา น.พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 และบรรดานักบุญท่านอื่น ๆ ที่เด็ก ๆ คุ้นเคย ท่านควรนำเรื่องของผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มาอภิปรายกันในห้องเรียน

         นอกจากนั้นการมีวินัยยังมีความจำเป็นต่อความสำเร็จในอาชีพต่าง ๆ ด้วย เช่น นักอวกาศ นักกีฬา นักกรีฑา ทหาร ตำรวจ แพทย์ พยาบาล นักดนตรี นักแสดง ฯลฯ

        เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระเยซูคริสตเจ้าและเทศกาลมหาพรตเป็นโอกาสที่ดีที่จะฝึกเด็ก ๆ ของเราให้เป็นผู้ที่มีวินัย ท่านควรส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้เตรียมจิตใจเพื่อรับเสด็จองค์พระเยซู คริสตเจ้าโดยการปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ โดยท่านอาจจะพูดคุยกับเด็ก ๆ หรือให้เด็ก ๆ  ได้คิดขึ้นมาเอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เพื่อเตรียมจิตใจต้อนรับเสด็จพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าจะแสดงน้ำใจดีต่อเพื่อนๆที่มีความเศร้าหรืออยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อนพูดคุยด้วย
เพื่อเตรียมจิตใจต้อนรับเสด็จพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าจะกินอาหารทุกอย่างที่แม่เตรียมไว้ให้และจะไม่บ่นว่าถ้ากับข้าวไม่อร่อย
เพื่อเตรียมจิตใจต้อนรับเสด็จพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าจะอ่านพระคัมภีร์ 5 นาทีก่อนดูโทรทัศน์
เพื่อเตรียมจิตใจต้อนรับเสด็จพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าจะตั้งใจเรียนเป็นพิเศษในวิชาที่ข้าพเจ้าไม่ชอบ
เพื่อเตรียมจิตใจต้อนรับเสด็จพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าจะดูรายการโทรทัศน์ที่น้องชอบ แทนที่รายการที่ข้าพเจ้าชอบ
เพื่อเตรียมจิตใจต้อนรับเสด็จพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าจะชวนเพื่อนที่ไม่รู้จักมาเล่นด้วย
เพื่อเตรียมจิตใจต้อนรับเสด็จพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าจะใช้เวลา 5 นาทีสวดภาวนก่อนเข้านอน
เพื่อเตรียมจิตใจต้อนรับเสด็จพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าจะดื่มน้ำแทนน้ำอดลมในขณะกินข้าวเที่ยง
เพื่อเตรียมจิตใจต้อนรับเสด็จพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าจะอาสาช่วยงานคุณพ่อคุณแม่โดยที่ไม่ต้องให้ท่านขอร้องทุกวัน

         ในระหว่างเทศกาลมหาพรต ท่านสามารถส่งเสริมให้เด็กได้พลีกรรมใช้โทษบาปโดยร่วมทุกข์กับพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน และเพื่อแสดงความกตัญญูที่พระองค์ทรงยอมทุกข์ทรมานเพื่อเราทุกคน นี้เป็นตัวอย่างที่เด็กสามารถนำไปปฏิบัติได้

เพื่อแสดงความรักต่อพระเยซู ข้าพเจ้าจะสวดภาวนาขอบพระคุณพระองค์ก่อนนอนทุกคืน
เพื่อแสดงให้พระเยซูเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าเข้มแข็งเหมือนพระองค์ ข้าพเจ้าจะยืนยันสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าเพื่อนๆจะไม่ชอบก็ตาม
เพื่อแสดงให้พระเยซูเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้ารักผู้อื่นเหมือนที่พระองค์ทรงรัก ข้าพเจ้าจะอาสาช่วยเพื่อนที่ข้าพเจ้าไม่ชอบ
เพื่อแสดงให้พระเยซูได้เห็นความรักของข้าพเจ้าในเทศกาลมหาพรตนี้ ข้าพเจ้าจะเรียนคำสอนอย่างดีและแบ่งปันความรู้ที่ได้รับให้เพื่อนๆที่ไม่รู้จักพระเจ้า
เพื่อแสดงให้พระเยซูรู้ว่าข้าพเจ้ามีความกตัญญูรู้คุณต่อพระองค์ ข้าพเจ้าจะเสียสละโดยการแบ่งขนมที่ข้าพเจ้าชอบให้เพื่อนๆได้กิน
เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพระเยซูสำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ประทานให้ ข้าพเจ้าจะบริจาคเงินให้วัดเพื่อช่วยเหลืองานแพร่ธรรม
เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพระเยซูที่ได้ทนทุกข์ทรมานเพื่อเรา ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยไม่บ่นว่า
เพื่อแสดงความรักต่อพระเยซู ข้าพเจ้าจะให้ความเคารพต่อคุณพ่อคุณแม่ และคุณครูทุกคน
เพื่อขอบพระคุณพระเยซู ข้าพเจ้าจะทำความสะอาดห้องนอน พับผ้าห่มและปูที่นอนอย่างดีทุกวัน

          ข้อตั้งใจในการปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านอาจจะให้เด็ก ๆ แต่ละคนได้จัดทำขึ้นมาเอง แล้วให้เขียนหรือพิมพ์ติดไว้ โดยให้เขียนตารางเป็นช่อง ๆ ต่อท้ายข้อตั้งใจแต่ละข้อ เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าให้เตรียมดาวเล็ก ๆ หรือดอกไม้เล็ก ๆ ไว้ในกล่องเพื่อให้เด็กนำมาติดในข้อปฏิบัติที่เขาได้ปฏิบัติไปแล้ว ส่วนเทศการมหาพรต แทนที่จะเป็นดาวหรือดอกไม้ให้เป็นไม้กางเขนเล็ก ๆ หรือหนามแทน การพลีกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้จะช่วยสร้างนิสัยเด็ก ๆ ให้เป็นคนที่มีวินัย

           หวังว่า ท่านคงจะเกิดแนวคิดจากตัวอย่างที่ได้ให้ไว้นี้ โปรดจำไว้ว่าเด็กแต่ละคนมีอัตลักษณ์ของตนเอง และกลุ่มแต่ละกลุ่มก็มีคุณลักษณะของตนเอง ดังนั้นท่านต้องใช้เวลาเพื่อไตร่ตรองถึงความแตกต่างของเด็ก ๆ  แต่ละคนที่ท่านสอน ท่านจะต้องประยุกต์สิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับเด็กๆของท่าน แล้วท่านจะพบวิธีการที่จะนำเสนอความเชื่อให้เด็ก ๆ โดยที่ยังสามารถรักษาวินัยในห้องเรียนได้

ขอให้เพื่อนๆสนุกและมีวินัยในการสอนคำสอน
คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ