ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

จดหมายเปิดผนึก...ถึงเพื่อน...ผู้ร่วมงาน
Love Letter 7

การใช้พระคัมภีร์อย่างสร้างสรรค์ในการสอนคำสอน
      พวกเราคงจะตื่นเต้นดีใจที่ได้รับจดหมายหรือข้อความจากบุคคลที่เรารักหรือเคารพ ทุกตัวอักษรดูจะมีความหมายและมีคุณค่า บางครั้งเราอาจจะตีความอะไรต่อมิอะไรที่มากไปกว่าตัวอักษรด้วยซ้ำไป
      พระคัมภีร์หรือพระวาจาของพระเจ้าก็เช่นเดียวกัน พระคัมภีร์เป็นจดหมายศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าทรงเขียนถึงพวกเรารวมถึงลูกศิษย์ของเราทุกคนด้วย พระศาสนจักรยืนยันกับเราว่า “พระศาสนจักร แสดงคารวกิจต่อพระคัมภีร์เสมอมาเช่นเดียวกับที่แสดงคารวกิจต่อพระกายของพระเจ้าเอง เฉพาะอย่างยิ่งในพิธีกรรม พระศาสนจักรรับเอาปังแห่งชีวิตมาจากโต๊ะแห่งพระวาจาของพระเป็นเจ้าและพระกายพระคริสตเจ้า โดยมิได้ว่างเว้นและให้ปังนี้แก่สัตบุรุษ”(การเผยแสดงของพระเจ้า ข้อ 21)
       ที่สำคัญที่สุดก็คือพระคัมภีร์เป็นแหล่งกำเนิดแห่งการสอนคำสอนเรา คู่มือหรือหนังสือคำสอนทุกเล่ม บทเรียนคำสอนทุกบทจะต้องมีเนื้อหาของคำสอนที่นำมาจากพระคัมภีร์ นี้ขาดไม่ได้จริงๆ
      
        ดังนั้นในครั้งนี้จึงอยากจะนำเสนอวิธีการใช้พระคัมภีร์ในการสอนคำสอนอย่างสร้างสรรค์เพื่อเพื่อนๆผู้ร่วมงานจะได้เกิดแนวคิดในการสอนมากยิ่งขึ้น

การเล่าเรื่อง (Storytelling)
        การเล่าเรื่องเป็นวิธีการเก่าแก่ที่เราเองเคยประทับใจมานานแล้ว อย่าว่าแต่เด็กๆเลยที่ชอบฟังเรื่องเล่า แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็เถอะ สังเกตพฤติกรรมการฟังเทศน์ของเรา เวลาคุณพ่อเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งประกอบบทเทศน์ เกือบทุกคนจะหันหน้าขึ้นและตั้งใจฟังเป็นพิเศษ

        ในการสอนคำสอนนั้น แทนที่เราจะให้เด็กๆอ่านพระคัมภีร์ ทำไมเราไม่วางหนังสือลงแล้วลงมือเล่าเรื่องราวต่างๆในพระคัมภีร์นั้นด้วยคำพูดของเราเองให้เด็กๆฟัง เราอาจจะบอกว่าเราเล่าเรื่องไม่เก่ง ไม่เป็นไรครับ ถ้าเราเตรียมตัวสักหน่อยเราก็จะเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งได้อย่างแน่นอน

        ในการเตรียมตัวนั้นให้เราเริ่มโดยมีแนวคิดว่าเรื่องต่างๆในพระคัมภีร์นั้นมีบุคคลต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ละคนต่างมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกัน มีอารมณ์ความรู้สึกหรือบทบาทที่ต่างแตกกัน พวกเขาเหล่านั้นเป็นบุคคลเช่นเดียวกับตัวของเราและเด็กๆที่เราสอนในทุกวันนี้ ดังนั้นการเล่าเรื่องของเรา เราจะต้องสวมบทบาทของแต่ละบุคคลด้วยอารมณ์ความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าเป็นตัวของเราเองที่กำลังพูดอยู่ในขณะนั้น

         เราจะต้องรู้ว่าเรื่องนั้นเกิดขึ้นที่ไหน ในกรุงเยรูซาเล็ม ในกาลิลี ในพระวิหาร ริมฝั่งทะเล บนภูเขา ฯลฯ ให้ใช้แผนภูมิ แผนที่ ภาพวาด เพื่อให้เด็กๆได้เห็นภาพของสถานที่ตั้งของแต่ละเรื่อง ขณะที่เล่าเรื่อง ให้เล่าเสมือนว่าเป็นตัวของท่านเองที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ท่านเห็นอะไร ท่านได้ยินอะไร ท่านรู้สึกอย่างไร คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นเห็นอะไร ได้ยินอะไร รู้สึกอย่างไร ถ้ามีฝูงชนเข้ามาเกี่ยวข้องให้พูดคุยกับเด็กๆว่าถ้าเขาเป็นคนหนึ่งในฝูงชนนั้นที่ได้ยินหรือได้เห็นพระเยซูเจ้าพูดหรือกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เขาจะรู้สึกอย่างไร เขาอยากจะพูดอะไร เขาจะมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นั้นอย่างไร

         เราจะต้องช่วยเด็กๆให้รู้สึกว่าเรื่องราวในพระคัมภีร์เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวของเขาเองโดยตรง
ในการเล่าเรื่องนั้น ให้เราใช้ท่าทางประกอบการเล่าหรือใช้เสียงสูงๆต่ำๆตามบทของบุคคลในพระคัมภีร์ หรือใช้น้ำเสียงที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกตามท้องเรื่องนั้น เราสามารถใช้ภาพ สิ่งของ แผนภูมิ หรือการเขียนสัญลักษณ์ประกอบการเล่าเรื่อง เช่น ถ้าเล่าเรื่องเปรียบเทียบเรื่องเมล็ดมัสตาร์ดใน มัทธิว 13:31,32 เราอาจจะเตรียมเมล็ดพืชเล็กๆมาประกอบการเล่าก็จะทำให้เด็กๆเกิดการจดจำได้มากยิ่งขึ้น ถ้าเราไม่สามารถหาเมล็ดพืชได้เราอาจจะใช้การวาดหรือภาพแทนก็ได้ การวาดภาพไม่จำเป็นต้องสวยให้ทำแบบง่ายๆเป็นดีที่สุด

การแสดงละคร (Dramatizations)
         เด็กๆมักจะสนุกกับการแสดงละคร เรื่องในพระคัมภีร์บางเรื่องเด็กๆสามารถแสดงได้ง่าย เราอาจจะใช้วิธีง่ายๆแบบนี้คือ เราอ่านแล้วให้เด็กๆแสดงประกอบการอ่านเลย โดยเราหยุดอธิบายเป็นระยะ เช่นเรื่องชาวสะมาเรียใจดี(ลูกา 10:29-37) อีกเรื่องหนึ่งคือพระเยซูเจ้าในหมู่ธรรมมาจารย์(ลูกา 2:41-52) ครั้งหนึ่งเคยให้นักเรียนชั้นประถมปีที่สามแสดง พอถึงตอนที่แม่พระพบพระกุมารเยซู เด็กผู้หญิงที่แสดงเป็นแม่พระพอเห็นพระกุมารกำลังพูดคุยกับนักปราชญ์ เธอจึงท้าวเอวพูดด้วยความโมโหว่า “นี้ลูก..ทำไมไม่ยอมบอกแม่ว่าจะไปไหน” ครูเองเพียงแต่บอกว่าเมื่อแม่พบลูก แม่จะพูดว่าอย่างไร แล้วให้เด็กพูดด้วยคำพูดของตนเอง
อีกวิธีหนึ่งเราอาจจะให้เด็กกลุ่มหนึ่งไปเตรียมตัวมาก่อน ให้อ่านพระคัมภีร์แล้วไปเตรียมการแสดงมา โดยที่ครูอาจจะช่วยแนะนำถึงภูมิหลังของเรื่อง ประเด็นสำคัญของเรื่องที่ควรนำเสนอ เป็นสาระที่ขาดไม่ได้หรือต้องเน้นเป็นพิเศษ ถ้าต้องมีเครื่องแต่งตัวหรือแต่งหน้าให้เลือกแบบง่ายๆไม่ต้องสิ้นเปลือง เมื่อแสดงเสร็จแล้ว ให้มีการอภิปรายในกลุ่มถึงคำสอนที่ได้รับจากพระคัมภีร์ในตอนนั้นๆ

ศิลปะพระคัมภีร์ (Scriptural Art)
         การทำศิลปะเป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้และจำจดพระคัมภีร์ได้อย่างดี เราอาจจะทำได้โดยให้เด็กๆอ่านพระคัมภีร์ตอนที่เราได้เลือกไว้อย่างเงียบๆ แล้วให้เด็กๆได้วาดภาพตามความคิดของเขาที่มาจากพระคัมภีร์นั้น เขาอาจจะประทับใจในตอนใดตอนหนึ่งของพระคัมภีร์ก็ให้เขาวาดออกมา ถ้าเรื่องนั้นมาหลายฉาก เราอาจจะมอบหมายเด็กๆแล้วให้แต่ละกลุ่มวาดแต่ละฉาก แล้วนำมาเล่าประกอบกัน เช่น เรื่องการทวีขนมปังและปลา เด็กคนแรกอาจจะวาดฉากที่พระเยซูเจ้าทรงบอกให้สาวกไปหาอาหารมาเลี้ยงประชาชน คนที่สองวาดเด็กคนหนึ่งมีขนมปัง 5 ก้อนกับปลา 2 ตัว คนที่สามวาดภาพประชาชนนั่งกันเป็นกลุ่มๆ ฯลฯ จากนั้นให้แต่ละมาเล่าเรื่องที่ตนเองได้วาดไว้

          นอกจากการวาดแล้วยังมีวิธีการอื่นๆอีกที่เราสามารถจัดให้เด็กๆทำได้ เช่น การระบายสี การปั้นดินน้ำมัน ฯลฯ

การเชิดหุ่น (Pupper-Talk)
        เด็กๆชอบดูการเชิดหุ่น เราอาจจะใช้เล่าเรื่องในพระคัมภีร์โดยใช้การเชิดหุ่น เราสามารถทำหุ่นอย่างง่ายๆด้วยตัวของเราเองได้ หรืออาจจะหาซื้อจากร้านของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นหุ่นที่มีชื่อเสียงจากหนังสือหรือภาพยนตร์ ยิ่งเป็นหุ่นที่เด็กรู้จักหรือคุ้นเคยยิ่งดึงดูดความสนใจของเด็กๆได้อย่างดียิ่ง หรือเราอาจจะให้เด็กช่วยกันทำหุ่นที่เขาต้องการและให้เขาเล่าเรื่องในพระคัมภีร์โดยใช้หุ่นที่เขาทำขึ้นมาเอง

การเขียน (Story writing)
         เด็กและเยาวชนหลายคนชอบการเขียนเรื่อง เราอาจจะให้เด็กๆของเราแสดงบทบาทเป็นคนเขียนพระคัมภีร์เอง โดยให้หัวข้อเขาไปคิดและเขียนด้วยรูปแบบของเขาเอง เช่น เรื่องการให้อภัยตามคำสอนของพระเยซูเจ้า เราควรแนะนำเขาให้เขียนโดยให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของเขา โดยเอาเรื่องใกล้ตัวมาเขียนเป็นเรื่องของการให้อภัย

การทำหนังสือพิมพ์ (Creating a Newspaper)
        ปัจจุบันเด็กๆของเรามีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ เราควรให้เด็กของเราจัดทำหนังสือพิมพ์ขึ้นมากันเอง เช่น ใกล้ถึงวันคริสตมาสแล้ว เราให้พวกเขาช่วยกันคิดว่าเราจะนำเสนอพระคัมภีร์ในรูปแบบของการนำเสนอข่าวได้อย่างไร เราจะใช้หัวข้ออะไรบ้าง เช่น การแจ้งข่าว แผนที่การเดินทางของแม่พระกับนักบุญยอแซฟ ถ้ำที่พระเยซูเกิด นักปราชญ์นำของขวัญมาถวายพระกุมาร อาจจะมีบทเพลงที่เกี่ยวกับการบังเกิดของพระเยซูเจา การให้ภาพประกอบเรื่อง ฯลฯ
หนังสือพิมพ์นี้เมื่อทำเสร็จแล้ว เด็กๆสามารถนำไปให้ที่บ้านได้อ่านกัน หรือนำไปวางไว้ในห้องสมุด

การทำเกมปริศนา (Creating a Puzzle)
          เมื่อเรานำเสนอเรื่องในพระคัมภีร์แล้ว เราอาจจะให้เด็กๆได้อ่านพระคัมภีร์ตอนนั้นด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น เราอาจจะนำเอาเนื้อหาพระคัมภีร์นั้นมาทำเป็นเกมปริศนาในรูปแบบต่างๆ เช่น การตั้งคำถาม ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร การจับคู่ การขีดถูกขีดผิด การเติมคำให้ถูกต้อง ฯลฯ
การใช้VCD

           ปัจจุบันเรามีภาพยนตร์เกี่ยวกับพระคัมภีร์มากมาย ทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ก่อนที่เราจะนำมาฉากให้เด็กดู เราควรที่จะให้คำอธิบายถึงภูมิหลังหรือจุดเด่นของเรื่องที่เด็กๆควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น เรื่องพระเยซูเจ้าในสวนมะกอก เราควรแนะให้เด็กๆสังเกตบทบาทของสาวกสามคนที่อยู่กับพระเยซูในสวนนั้น หรือตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้ทรยศพระเยซูเจ้า หรือพระเยซูเจ้าพูดอะไรกับยูดาส และเมื่อฉายหนังเสร็จแล้วให้ตั้งวงอภิปรายกันถึงเรื่องเราได้ดูพร้อมๆกันนั้น

           เรามีวิธีการต่างๆมากมายในการนำเสนอพระคัมภีร์ แต่มีหลักสำคัญที่เราต้องสำนึกอยู่เสมอคือ ต้องทำให้เรียบง่ายและทำด้วยความเคารพ โดยคำนึงถึงความหลายหลากและเหมาะสมตามสภาพแวดล้อม เราทำให้พระคัมภีร์สนุกได้ แต่อย่านำเอาพระคัมภีร์มาเล่นตลกโดยขาดความเคารพหรือมานำเสนออย่าลบหลู่หรือผิดเพี้ยน

ขอให้สนุกกับการทำงานรับใช้พระเจ้านะครับ

คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2010
บ้านพักพระสงฆ์ อารามพระหฤทัยฯ กรุงเทพ

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์