ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

บทที่  32 พลีกรรม

จุดมุ่งหมาย     เพื่อให้ผู้เยนได้เห็นความสำคัญของการบังคับตน รู้จักกอดทนต่อความยากลำบาก และรู้จักอดกลั้นอันจะทำให้เป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง

ขั้นที่ 1  กิจกรรม       ครูเล่านิทานที่สนับสนุนสุภาษิตที่ว่า “นั่งดีกว่านอน หาบดีกว่าคอน ไปดีกว่าอยู่ ก่อนกินให้พิจารณา”
มีความดังต่อไปนี้
           หนุ่มคนหนึ่งมีชื่อว่าจ้อย ได้รับการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ก่อนตายว่า “นั่งดีกว่านอน หาบดีกว่าคอน ไปดีกว่าอยู่ ก่อนกินให้พิจารณา” เขาก็จดจำใส่ใจไว้ แล้วก็เก็บข้าวของออกเดินทางไปแสวงโชคยังเมืองไกลพร้อมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง หลังจากเดินทางมาได้หนึ่งวัน ทั้งสองก็พักค้างคืนที่ศาลาแห่งหนึ่ง เพื่อนของเขารู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก จึงวางสัมภาระลงแล้วล้มตัวนอนหลับไปในทันทีส่วนจ้อยก็ล้มตัวลงนอนเหมือนกัน แต่ฉุกคิดถึงคำสั่งสอนของพ่อแม่ที่ว่า “นั่งดีนอน” เขาจึงลุกขึ้นนั่งพิงเสาหลับไปตกดึงโจรก็ย่องมาขโมยของของเพื่อนไปจนหมดสิ้น แต่โจรไม่กล้าขโมยของของจ้อยเพราะเห็นเขานั่งอยู่ รุ่งเช้าจ้อยก็พาเพื่อนที่เหลือแต่ตัวเปล่าออกเดินทางต่อไปจนถึงเมืองแห่งหนึ่ง เขาทั้งสองช่วยกันทำงานและค้าขายจนร่ำรวย มีเงินซื้อข้าวของมากมายจึงตกลงออกเดินทางไปแสวงโชคต่อไป เพื่อนเก็บข้าวของใส่ถุงเข้าเอวคอนไป จึงเอาของไปได้น้อย แต่จ้อยคิดถึงคำของพ่อแม่ว่า “หาบดีกว่าคอน” เขาจึงจัดทำสาแหรกคู่หนึ่ง ใส่ของจนเต็ม แล้วเอาไม้คาบไป จึงเอาของไปได้มาก จ้อยบอกเพื่อให้ทำเช่นเดียวกัน แต่เพื่อนบอกว่าขี้เกียจ พอมาถึงอีกเมืองหนึ่งก็พักอยู่ที่เมืองนี้ ชาวเมืองเป็นคนไม่ขยัน ชอบแต่เที่ยวเตร่และนั่งตามร้านเหล้าร้านกาแฟ เพื่อนของจ้อยชอบมากจึงตกลงพักอยู่ที่เมืองนี้เพราะสบายดี ส่วนจ้อยคิดถึงคำของพ่อแม่ที่ว่า “ไปดีกว่าอยู่” เขาจึงออกเดินทางต่อไปพร้อมกับข้าวของของเขา เพื่อนของจ้อยอยู่ที่เมืองนี้ จับจ่ายใช้สอยจนข้าวของเงินทองหมดลง เขาจึงกลายเป็นคนขอทาน

           จ้อยเดินทางไปตามลำพังจนถึงอีกเมืองหนึ่ง เขารู้สึกหิวจึงเข้าไปในร้านอาหารและสั่งอาหารมากิน เจ้าของร้านเป็นคนโกง มักจะฉวยโอกาสและชิงทรัพย์คนแปลกหน้าอยู่เสมอ พอเห็นจ้อยเป็นคนแปลกหน้าเดินเข้ามาก็ออกอุบายเอายาพิษใส่ในอาหารเพื่อฆ่าจ้อยและชิงทรัพย์เสีย พอคนใช้ยกอาหารมาให้จ้อยก็ทำท่าจะตักกินทันทีเพราะหิว แต่มานึกถึงคำของพ่อแม่ได้ว่า “ก่อนกินให้พิจารณา” เขาจึงตักอาหารเอาให้สุนัขกินก่อน พอสุนัขกินเข้าไปก็ดิ้นพราดๆตายไปต่อหน้า จ้อยจึงไม่ยอมกินอาหารนั้นและรอดจากตายไปได้

ขั้นที่ 2  วิเคราะห์

ครูถามผู้เรียนว่า
- จ้อยกับเพื่อนมีความแตกต่างกันอย่างไร ?
- ทำไมเพื่อนจึงตกอับ ?
- ผู้เรียนจะเลือกเอาแบบไหนดี ?

สรุป    คนที่ชอบปล่อยตัวหาแต่ความสะดวกสบาย ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจย่อมมีแต่ความเสื่อมและหายนะ ส่วนคนที่รู้จักบังคับตนเองฝืนใจไม่ทำแต่สิ่งที่อยาก กลับเป็นคนที่ได้ดิบดีในภายหลัง

ขั้นที่ 3  คำสอน
         
1. พระเยซูเจ้าตรัสว่า “แขนงใดที่ไม่เกิดดอกออกผล พระบิดาจะทรงตัดทิ้งเสีย และแขนงใดที่เกิดดอกออกผลแล้ว พระบิดาก็ทรงลิดเพื่อให้เกิดดอกออกผลมากขึ้น” (ยน. 15,2) พระองค์ตรัสดังนี้เพื่อสอนว่า ชีวิตของเราจะเกิดผลต้องอาศัยการพลีกรรมมัธยัสถ์ตน คือรู้จักบังคับตนเอง อารมณ์ ใจและกายทุกส่วนให้อยู่ในทำนองคลองธรรมตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า การกระทำดังกล่าวจะต้องมีความยากลำบาก มีความทุกข์และอุปสรรคเสมอไม่ใช่ของง่ายๆ
นักบุญยากอบก็สอนให้เรารู้จักบังคับตัวเอง อารมณ์ และลิ้นเป็นต้นว่า “คนที่อดทนต่อการทดลองใจก็เป็นสุข เพราะเมื่อปรากฏว่าคนนั้นทนได้แล้ว เขาก็จะได้รับมงกุฎแห่งชีวิตซึ่งพระเป็นเจ้าได้ทรงสัญญาไว้” (ยก. 1,12) และตอนหนึ่งว่า “ให้ทุกคนว่องไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ เพราะว่าความโกรธของมนุษย์ไม่ได้ทำให้เกิดความชอบธรรมแห่งพระเป็นเจ้า” (ยก. 1,19 – 20) ท่านยังอธิบายต่อไปว่า “เราทุกคนทำผิดพลาดกันได้หลายๆอย่าง ถ้าผู้ใดมิได้ทำผิดด้วยวาจา ผู้นั้นก็เป็นคนดีบริบูรณ์แล้ว และสามารถบังคับตัวไว้ได้ด้วย ลิ้นก็เช่นเดียวกันเป็นอวัยวะเล็กๆที่ชอบอวดอ้างเรื่องใหญ่ๆ เราต้องรู้จักบังคับลิ้นของเราในการพูดด้วย” (ยก. 3,2 – 5)

          2. เพื่อพิสูจน์ว่าคำพูดเหล่านี้เป็นความจริงเรามีประจักษ์พยานยืนยันมากมาย ได้แก่พระนางมารีอาและนักบุญทั้งหลาย ซึ่งล้วนบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ถึงขั้นเป็นนักบุญที่เราเคารพยกย่องอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะในชีวิตของท่านได้ผ่านความยากลำบาก การพลีกรรมบังคับตนเอง มาอย่างโชกโชนทั้งนั้น สำหรับพระนางมารีอานั้นได้รับคำเรียกขานว่าเป็นแม่พระมหาทุกข์ทีเดียว บรรดานักบุญอัครสาวกทั้งหลายก็สละบ้านช่อง พี่น้อง ออกติดตามพระเยซูคริสต์ไปนอนกลางดินกินกลางทราย ถูกสบประมาท กลั่นแกล้ง จนกระทั่งถูกฆ่าตายเป็นมรณสักขีสิ้นทุกองค์ นักบุญอื่นๆก็ทำเช่นเดียวกัน ไม่มีนักบุญองค์ใดเลยที่มีชีวิตสุขสบายตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็กลายเป็นนักบุญ

           3. พระศาสนจักรก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพลีกรรมตามคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ “ถ้าท่านไม่พลีกรรมใช้โทษบาป ก็จะต้องพินาศสิ้น” ( ลก. 13,3) จึงบัญญัติให้คริสตชนทำการพลีกรรมใช้โทษบาปเป็นประจำ คือ พระบัญญัติของพระศาสนจักรประการที่ 2 กำหนดไว้ว่า “จงอดอาหารและอดเนื้อในวันบังคับ

               วันบังคับอดอาหารมีอยู่ 2 วันในรอบปี คือวันพุธรับเถ้าและวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนใครจะสมัครพลีกรรมอดอาหารในวันอื่นๆเป็นพิเศษอีกก็เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญและน่าสนับสนุน
               คริสตชนที่ต้องอดอาหารในวันบังคับคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ จนถึง 59 ปีบริบูรณ์
               วิธีการอดอาหารในวันบังคับคือ รับประทานอาหารจนอิ่มได้เพียงมื้อเดียวในวันนั้น ส่วนอีกสองมื้อรับประทานได้เพียงครึ่งเดียวของปกติ
               วันบังคับอดเนื้อคือวันศุกร์ทุกวันศุกร์ตลอดปี และวันพุธรับเถ้า
               คริสตชนที่ต้องอดเนื้อในวันบังคับคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปจนตลอดชีวิต
               วิธีการอดเนื้อในวันบังคบคือ ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์บกและเนื้อสัตว์ที่เลือดอุ่นทุกชนิด ยกเว้นเนื้อสัตว์น้ำ
               อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการพลีกรรมใช้โทษบาปมีจุดเน้นที่สำคัญอยู่ที่จิตใจ ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งภายนอกซึ่งได้แก่สิ่งที่ต้องอดทั้งหลาย ฉะนั้นพระศาสนจักรจึงสอนให้อดอาหารและอดเนื้อโดยเน้นการอดเป็นสำคัญ คือยินดีน้อมรับความยากลำบากที่เกิดจาก  การอดนั้นถวายเป็นพลีกรรมใช้โทษบาปต่อพระเป็นเจ้า และเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าว พระศาสนจักรจึงมอบทางเลือกอีกหลายๆทางให้คริสตชนสามารเลือกอดได้ดีกว่าที่กำหนดไว้ในพระบัญญัติ คือ สำหรับการอดเนื้อ สภาพระสังฆราชฯ อาศัยอำนาจตามกฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 1253 ได้กำหนดวิธีการไว้สำหรับคริสตชนในประเทศไทยดังต่อไปนี้
“ผู้ใดปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามกำหนดนี้ ถือว่าได้ถือตามการอดเนื้อ คือ
      ก. อดเนื้อ
      ข. ปฏิบัติกิจศรัทธานอกเหนือจากที่เคยปฏิบัติ อาทิ เดินรูป 14 ภาค เฝ้าศีลมหาสนิท สวดสายประคำ ฯลฯ
      ค. ปฏิบัติกิจเมตตาปนานี เช่น ให้ทานคนจน เยี่ยมคนเจ็บป่วย ฯลฯ
      ง. งดเว้นอาหาร หรือสิ่งที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ อาทิ งดดื่มสุราและเบียร์ งดสูบบุหรี่ ฯลฯ
      จ. รู้จักอดออมและละเว้นความฟุ้งเฟ้อต่างๆ
              พระศาสนจักรยังกำหนดไว้ในกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1252 ว่า “เป็นหน้าที่ของผู้อภิบาลและบิดามารดาที่จะต้องอบรมผู้น้อยที่ยังไม่ต้องถือตามกฎหมายการอดอาหารและอดเนื้อให้เข้าใจจิตตารมณ์ของการพลีกรรม”

               4. การพลีกรรม มัธยัสถ์ตน นอกจากเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลแล้ว ยังเป็นการสร้างสรรค์ความเป็นมนุษย์ของเราให้สมบูรณ์ด้วย สังคมโลกก็ยกย่องคนที่รู้จักปกครองตนเอง เป็นนายเหนือตนเอง สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ และยกให้เป็นผู้มีชัยที่แท้จริง สมกับคำกล่าวที่ว่า “ชัยชนะที่แท้จริง คือการชนะตนเอง”

 ขั้นที่ 4  ปฏิบัติ

  • ข้อควรจำ
    1. “ถ้าท่านไม่พลีกรรมใช้โทษบาป ก็ต้องพินาศสิ้น (ลก. 13,3)
    2. ชีวิตของเราจะเกิดดอกออกผลก็ต้องอาศัยการพลีกรรม มัธยัสถ์ตน คือรู้จักบังคับตนเอง อารมณ์ ใจและกายทุกส่วนให้อยู่ในธรรมนองคลองธรรมตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า
    3. พระบัญญัติของพระศาสนจักรประการที่ 2 สั่งว่า “จงอดอาหารและอดเนื้อในวันบังคับ” เพื่อให้คริสตชนรู้จักพลีกรรมใช้โทษบาป
    4. จุดมุ่งหมายของการพลีกรรมใช้โทษบาปอยู่ที่การอด คือ ยินดีน้อมรับความยากลำบากที่เกิดจากการอดนั้นเป็นพลีถวายแด่พระเป็นเจ้า
  • กิจกรรม กิจกรรม ให้ผู้เรียนเล่นเกม “ตอบทันควัน”
    วิธีเล่น   จัดผู้เรียนนั่งเป็นวงกลม ครูเป็นผู้นำเกมอยู่กลางวง
                ครูชี้ไปที่ผู้เรียนคนใดหนึ่ง แล้วกล่าวการกระทำบางอย่างให้ผู้ถูกชี้ตอบ ถ้าการกระทำนั้นเข้าข่ายการพลีกรรม ผู้ถูกชี้ต้องตอบทันควันว่า “พลีกรรม” ถ้าการกระทำนั้นเข้าข่ายการทำตามใจตนเองผู้ถูกชี้ต้องตอบทันควันว่า “ตามใจ” เช่นตัวอย่าง “ไปวัด” ตอบว่า “พลีกรรม” “หนีเรียน” ตอบว่า “ตามใจ”
    ผู้เรียนคนหนตอบผิด หรือช้า ต้องออกมารวมกันอยู่กลางวงแล้วให้ปฏิบัติตามคำสั่ง
    ตัวอย่างการกระทำ
    - ลอกการบ้านเพื่อน
    - ยกโทษให้เพื่อน
    - คุยในห้องเรียน
    - ช่วยคนชราถือของ
    - ช่วยมิสซา
    - อดเนื้อวันศุกร์
    - นอนตื่นสาย
    - ทำเวรแทนเพื่อน
    - อ่านหนังสือที่ดี
    - สวดสายประคำ ฯลฯ

    การบ้าน ทำต้นพลีกรรมติดไว้ที่ห้องเรียน ชักชวนให้ผู้เรียนทำพลีกรรมเล็กๆน้อยๆ ในแต่ละวัน ใครทำอะไรก็ให้เขียนใส่กระดาษรูปดอกไม้หรือใบไม้ นำไปติดที่ต้นพลีกรรมทุกวัน

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์