ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

บทที่  19  อย่ามักได้ทรัพย์ของเขา

จุดมุ่งหมาย     เพื่อให้ผู้เรียนทำใจพอในสิ่งที่ตนมี  และหากมีความจำเป็นประการใดก็ให้แสวงหาโดยใช้วิธีที่ถูกต้อง

ขั้นที่ 1  กิจกรรม

ให้ผู้เรียนแสดงละครใบ้ประกอบคำบรรยายต่อไปนี้

ฉากที่  1

บรรยาย     ณ  เมืองแห่งหนึ่ง  มีคนมั่งมีคนหนึ่ง  เขามีแกะมากมายหลายตัว  ยังมีคนจนอีกคนหนึ่ง  เขามีแกะอยู่เพียงตัวเดียวที่เขารักมาก  เขาเลี้ยงดูมันเหมือนเป็นลูก  เขาและแกะกินข้าวด้วยกัน  ดื่มน้ำถ้วยเดียวกัน  นอนด้วยกัน  แกะตัวนั้นก็อ้วนพี  สะอาด  สวยงาม  คนมั่งมีเห็นก็อิจฉา  อยากจะได้

           วันหนึ่งคนมั่งมีมีแขกมาเยี่ยม  คนมั่งมีนั้นก็จัดการเลี้ยงต้อนรับ  เขาเสียดายที่จะเอาแกะของเขาเองมาฆ่าเลี้ยงแขก  เขาจึงไปเอาแกะของคนจนมาฆ่าเลี้ยงแขกแทน  เขารู้สึกสะใจที่ได้กินแกะของคนจน  เขาและแขกต่างก็ยินดีปรีดากินแกะตัวนั้นกันอย่างอิ่มเอมใจ  ส่วนคนจนได้แต่ร่ำไห้เสียดายและอาวรณ์แกะของตน  จนไม่เป็นอันกินอันนอน

ขั้นที่ 2  วิเคราะห์

ครูถามผู้เรียนว่า

  • รู้สึกอย่างไรต่อคนจน ?    ทำไม  ?
  • รู้สึกอย่างไรต่อคนมั่งมี ?    ทำไม  ?
  • เรื่องนี้มีบทสอนอะไร ?

สรุป     การมักได้ของคนอื่น  ทั้งๆ ที่ตนก็มีแล้ว  ส่อแสดงให้เห็นความไม่รู้จักพอในหัวใจ  จนเกิดมีเจตนาที่จะได้ของของคนอื่นนั้นมาเป็นของตัวโดยใช้วิธีที่ไม่ถูกต้อง

ขั้นที่ 3  คำสอน

  1. พระเป็นเจ้าทรงสร้างหัวใจมนุษย์เรามาให้ปรารถนาในสิ่งที่ดีที่ลาม  และยอดของสิ่งที่ดีที่งามทั้งหลายก็คือ  พระเป็นเจ้า  นักบุญเอากุสตินจึงกล่าวว่า  “พระองค์ทรงสร้างข้าพเจ้ามาเพื่อพระองค์  และหัวใจของข้าพเจ้าจะไม่มีวันพบวันสงบสุข  เว้นแต่ในพระองค์”  ความปรารถนาของหัวใจมนุษย์จึงจะถูกต้องชอบธรรม  เมื่อมุ่งไปสู่ความดีหรือพระเป็นเจ้า  ถ้าผิดเพี้ยนหรือเฉไฉไปจากนั้นก็ไม่ถูกต้องชอบธรรม  ถ้าเจ้าตัวตกลงปลงใจตามความปรารถนานั้นก็ทำผิด  หรือทำบาป
  2. คนมั่งมีในตัวอย่างข้างต้นปรารถนาอยากได้แกะของคนจนโดยไม่ยอมชักทุนตนเอง  ซึ่งผิดต่อความยุติธรรมเพราะละเมิดสิทธิเป็นเจ้าของของคนจน  เท่ากับเป็นบาปผิดต่อพระบัญญัติประการที่  10  ที่ระบุไว้  “อย่ามักได้ทรัพย์ของเขา”  ซึ่งความผิดหรือบาปดังกล่าวอาจจะเป็นได้หลายลักษณะ  เช่น

            ก.  ความมักได้     ซึ่งอาจหมายได้สองอย่าง  คือ  ปรารถนาถูกต้องชอบธรรมแต่เกินขบเขต  แสดงให้เห็นถึงใจที่ผูกพันกับทรัพย์สิ่งของจนลดความสำคัญของพระเป็นเจ้า  และปรารถนาที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมซึ่งผิดต่อความยุติธรรม

            ข.  ความอิจฉา     ซึ่งแสดงออกได้สองอย่าง  คือ  เสียใจเมื่อคนอื่นได้ดี  และ  ดีใจเมื่อคนอื่นได้ร้าย  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดต่อความรักต่อเพื่อนมนุษย์

            ค.  ความตระหนี่     ซึ่งหมายถึงความยึดติดกับทรัพย์สิ่งของจนไม่เห็นพระเป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์อยู่ในสายตา  เป็นความเห็นแก่ตัวอย่างสุดๆ  ซึ่งผิดทั่งความรักต่อเพื่อนมนุษย์และผิดต่อความยุติธรรมด้วยเพราะทรัพย์สิ่งของนั้นเป็นพระเป็นเจ้าทรงสร้างมาสำหรับมนุษย์ทุกคน

  1. พระบัญญัติประการที่  10  นี้ได้ตราขึ้นคู่กับพระบัญญัติประการที่  7  ซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิ่งของต่างๆ  นั่นก็คือพระบัญญัติประการที่  10  เกี่ยวข้องกับ  “ความปรารถนา”  คือความรู้สึกของหัวใจซึ่งอยู่ภายในตัวมนุษย์  ส่วนพระบัญญัติประการที่  7  เกี่ยวข้องกับ  “การกระทำ”  คือการลักขโมย  ซึ่งปรากฎออกมาในการกระทำภายนอก  ตามธรรมชาติของมนุษย์แล้ว  ความปรารถนาของหัวใจเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำ  ฉะนั้นถ้าสามารถคุมความปรารถนาของหัวใจได้ก็จะสามารถควบคุมการกระทำได้ด้วย

           แต่ในทางปฏิบัติ  ความปรารถนาของหัวใจอาจไม่นำไปถึงการกระทำก็เป็นได้  เพราะมีอุปสรรคบางอย่างมาขัดขวางไว้  เช่น  เพราะไม่สบโอกาส  เพราะความกลัว  ฯลฯ  ในกรณีเช่นนี้  ถ้ามีการปลงใจในความปรารถนานั้นก็เป็นบาปผิดต่อพระบัญญัติประการที่  10  แต่เพียงอย่างเดียว

  1. จุดมุ่งหมายสำคัญของพระบัญญัติประการที่  10  ต้องการจะสอนเรามนุษย์ให้ปรับความปรารถนาของหัวใจไปสู่ความดีความงามไปสู่พระเป็นเจ้า  โดย

            ก.  ไม่มีใจยึดติดกับทรัพย์สิ่งของ     ถือว่ามันเป็นเพียงสิ่งรับใช้ชีวิต  ไม่ใช่เป็นนาย  ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เราเรียกว่า  “ความมีใจยากจน”  ตามพระวรสาร  “บุญของผู้มีใจยากจน  เหตุว่าพระอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา”  (มธ. 5,3)

            ข.  ความมีใจกว้างขวาง     เผื่อแผ่ทรัพย์สิ่งของที่ตนมีผู้อื่น  เป็นต้น  แก่คนที่ยากจน  ขัดสน  และมีความต้องการ

ขั้นที่ 4  ปฏิบัติ

  • ข้อควรจำ
  1. อย่ามักได้ทรัพย์ของเขา
  2. “ทรัพย์สมบัติท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็อยู่ที่นั้น”  (มธ. 6,21)
  3. พระเป็นเจ้าทรงสร้างหัวใจมนุษย์มาให้ปรารถนาสิ่งที่ดีงาม และยอดของความดีงามทั้งหลายคือ  พระเป็นเจ้า
  4. “พระองค์ทรงสร้างข้าพเจ้าขึ้นมาเพื่อพระองค์ และหัวใจของข้าพเจ้าจะไม่มีวันพบความสงบสุขเว้นแต่ในพระองค์”  (นักบุญเอากุสติน)
  5. ความผิดต่อพระบัญญัติประการที่ 10  มี  เช่น  ความมักได้  ความอิจฉา  ความตระหนี่

กิจกรรม     ให้ผู้เรียนช่วยกันเสนอวิธีแสดงความใจกว้าง  ไม่ยึดติดกับทรัพย์สิ่งของมาหลายๆวิธี  เลือกเอาเพียง  2 – 3  วิธี  แล้วนำไปปฏิบัติจริงๆ

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์