ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

คุณพ่อดำรัส ลิมาลัย สอนคำสอนเด็กอนุบาล ร.ร.ดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษาข้อแนะนำเพื่อการให้การอบรมเด็กวัย 3-5 ขวบ

        เด็กในวัยนี้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องของพระเจ้า และสามารถเปิดจิตใจออกต้อนรับพระเจ้าได้ พวกเขาเริ่มพัฒนาความรู้สึกของความไว้วางใจ ความรัก ความใกล้ชิด การยอมรับ มีความสุข ความทุกข์ ความพึงพอใจ และเริ่มเรียนรู้ที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับได้แล้ว

        เราเองกำลังอยู่ในกระแสของของสื่อ ตัวเราเองและเป็นต้นเด็กๆที่อยู่ในความดูแลของเราต่างได้รับอิทธิพลจากสื่อต่าง ๆ อย่างมากมาย เด็ก ๆ ซึมซับค่านิยมต่าง ๆ จากการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง โฆษณา ถ้าเราไม่ใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ เด็ก ๆ ของเราอาจจะตกอยู่ในกระแสสังคมที่เต็มไปด้วยความเลวร้ายต่าง ๆ ที่จะตามมา

        อย่างไรก็ตามเด็ก ๆ ของเรายังมีจิตใจที่รักความยุติธรรมอันเป็นคุณสมบัติที่ดีตามธรรมชาติติดตัวมา เช่น ถ้าเราแจกขนมให้เด็ก ๆ แต่ให้ไม่เท่ากัน เราจะเห็นปฏิกิริยาของพวกเขาทันที

        สิ่งที่ท้าทายเราในฐานะที่เป็นครูคำสอนหรือผู้ให้การอบรมก็คือ การเพาะบ่มคุณลักษณะที่ดีลงในจิตวิญญาณของเด็ก ๆ

        เด็ก ๆ มักจะมอบความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ บรรดาคุณครู หรือบรรดาผู้ใหญ่อื่นๆ แต่ถ้าเขาเห็นว่าผู้ใหญ่ที่เขาไว้วางใจทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นอย่างที่สอน พวกเขาจะรู้สึกผิดหวัง พวกเขาต้องการเห็นพระเจ้าในแบบอย่างของผู้ใหญ่ที่เขาใกล้ชิด

       สำหรับเด็กๆที่มีประสบการณ์หรือภูมิหลังที่มีความยากลำบาก ครูควรที่จะสั่งสอนให้เขาได้มองเห็นความรักของพระเจ้าท่ามกลางความลำบากของพวกเขา อย่างน้อยที่สุดแล้วทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีความดีงาม หรือประโยชน์เสมอ

        คุณลักษณะที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือ ลักษณะความเห็นแก่ตัวของเด็กๆ อะไรๆก็เป็นของฉันทั้งนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ครูจะต้องพยายามลดความรู้สึกนี้(รวมทั้งความรู้สึกที่ไม่ดีอื่นๆลงไป) และเพิ่มเติมคุณลักษณะเชิงบวกลงไปแทนที่

สรุปถึงคุณลักษณะของการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในวัยนี้

      - ชอบเรื่องเล่าต่าง ๆ และรักที่จะร้องเพลง
      - เรียนรู้โดยผ่านการกระทำกิจกรรม ไม่ใช่การนั่งเฉยหรือฟังครูสอน
      - เรียนรู้โดยการเลียนแบบหรือทำตามผู้ใหญ่ และอยากให้ครูบอกเขาว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ เช่น ถ้าจะสอนให้เด็กสวดภาวนา ครูควรยืนอยู่ด้านหน้าของเด็ก ๆ และบอกกับเด็ก ๆ ดังนี้ “ให้เราหลับตาและพูดกับพระเยซูเจ้าตามครู.......” โดยที่หลับตาภาวนา หรือทำให้ดูจริงด้วย
      - มีความยุ่งยากในเวลาที่ต้องเปลี่ยนกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการให้เขาหยุดเล่นเพื่อเพื่อเข้าสู่กิจกรรมที่เป็นเนื้อหา ครูควรใช้คำพูดหรือคำสั่งที่ชัดเจนและเหมือนเดิมกัน และควรใช้เพลงเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระจากกิจกรรมหนึ่งไปสู่กิจกรรมต่อไป
     - เด็ก ๆ มีความตั้งใจหรือสมาธิที่ไม่ยาวนัก เช่น เด็กในวัย 3 ขวบมีสมาธิประมาณ 5 นาที ส่วนเด็กในวัย 4-5 ขวบประมาณ 10 นาที
     - เด็กในวัย 3 ขวบ ชอบเล่นคนเดียวตามลำพัง แม้ว่าจะคนอื่นอยู่ข้าง ๆ เขาก็จะมีปฏิสัมพันธ์แต่เพียงเล็กน้อย
    - วัย 4-5 ขวบ ชอบเล่นกับเพื่อนสองหรือสามคน ไม่ชอบอยู่ในกลุ่มใหญ่ ครูควรแนะนำเด็กที่มาใหม่ให้รู้จักกับเพื่อนแค่คนหรือสองคนก่อน แล้วจึงค่อยๆขยายไปสู่เพื่อนในกลุ่มใหญ่

ข้อแนะนำเพื่อช่วยให้ครูแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และสนับสนุนให้เด็กเกิดความร่วมมือในระหว่างกันและกันและให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์
      - ครูพึงจำไว้ว่า เด็ก ๆ ทุกคนต้องการความรักและการยอมรับ เป้าหมายของเราในฐานะผู้ให้การอบรมก็คือ การให้เด็ก ๆ ทุกคนได้รับประสบการณ์แห่งความรักและการยอมรับนี้แหละ
     - ใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อควบคุมเด็ก เช่น การปรบมือหรือการเป่านกหวีด หรือใช้บทเพลงใดเพลงหนึ่งโดยเฉพาะ โดยให้เป็นที่รู้กันว่าเมื่อได้ยินเสียงนี้แล้วทุกคนจะต้องหยุดกิจกรรมและมองมาที่ครูเพื่อตกลงกันสำหรับกิจกรรมต่อไป
     - เมื่อจะชมหรือตำหนิ ครูควรใช้คำพูดที่ยืนยันถึงพฤติกรรมที่เฉพาะเจาะจงนั้น เช่น “ครูชมมากเลยที่สมาชิกโต๊ะนั้นแบ่งปันดินสอสีให้กันและกัน”
     - เด็กๆชอบที่จะเป็น “ผู้ช่วยเหลือ” ดังนั้นถ้ามีเด็กคนใดที่ครูรู้สึกว่าเขาชอบทำโน้นทำนี้ จนบางครั้งรู้สึกว่ามันมากเกินไป ให้ครูนำเอาพลังของเขามาใช้ให้ถูกทาง เช่น ให้เป็นแจกหนังสือหรือสิ่งของ ให้เป็นคนเก็บของ หรือลบกระดาน หรือมอบหมายความรับผิดชอบที่เฉพาะเจาะจงให้เขา
    - เด็ก ๆ จะมีความมั่นใจและปลอดภัยในการทำกิจกรรม ถ้าหากว่ากิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมที่เขาเคยทำอยู่เป็นประจำ เป็นกิจกรรมที่คุ้นเคยแล้ว ดังนั้นครูควรมีสูตรของตนเองในการเริ่มต้นหรือการจบบทเรียน ที่ทำจนเด็ก ๆ คุ้นเคย และพยายามจัดห้องเรียนให้อยู่ในลักษณะเดิม ไม่ควรเปลี่ยนบ่อยๆจนเกินไป ถ้าจะเปลี่ยนควรให้เด็กๆมีส่วนจัดของเขาเองด้วย
    - เด็ก ๆ จะทำอะไรอย่างมั่นใจ เมื่อเขารู้ว่าครูต้องการให้เขาทำอะไร บางครั้งพวกเขาทำอะไรผิดพลาดไปเพราะพวกเขาสับสนในคำชี้แจงของครู ดังนั้นครูควรตั้งกฎเกณฑ์ที่ซื่อ ๆ ง่าย ๆ และชี้แจงพวกเขาอย่างชัดเจน
    - เด็กแต่ละคนมีความถนัดในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อครูจับจุดเด่นของเขาและให้เขาได้เรียนตามแบบฉบับของเขา
    - สุดท้ายของคำแนะนำ ขอให้ครูสวดภาวนาเพื่อเด็ก ๆ แต่ละคน สวดให้ทีละคน เพราะพระเจ้ามอบหมายเด็กเหล่านี้ให้อยู่ในความดูแลของท่าน ท่านเปรียบเสมือทูตสวรรค์ของเด็ก ๆ ท่านคือเครื่องมือแห่งความรักของพระเจ้า

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์