ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

ccp021.jpg บทเรียนที่      1 เดือนกรกฎาคม 1995
หัวข้อเรื่อง      ศักดิ์ศรีของสตรี
จุดมุ่งหมาย   
ปลุกจิตสำนึกให้นักเรียนเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของสตรีในสังคมที่ตนอยู่

ขั้นที่ 1 กิจกรรม

- ครูเตรียมบัตรคำที่มีลักษณะคู่กัน เช่น พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย ลุง-ป้า น้า-อา อากง-อาม้า อาตี๋-อาหมวย อาเฮีย-อาซ้อ อากู๋-อากิ๋ม ลูกชาย-ลูกสาว ชาย-หญิง กลางวัน-กลางคืน ร้อน-เย็น หัวเราะ-ร้องไห้ สุข-ทุกข์ ตื่น-หลับ ขวา-ซ้าย ฯลฯ โดยเขียนแยกลงบัตรละคำ นำใส่ถุงปนกันไว้

- ให้นักเรียนมาจับบัตรคำคนละบัตร เสร็จแล้วให้ทุกคนออกค้นหาบัตรที่มีคำคู่กับของตนที่คนอื่นจับไปให้พบ เมื่อพบแล้วให้จับคู่กันไว้จนกว่าทุกคนจะหาคู่ได้ครบ

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์

- ครูตรวจดูความถูกต้อง ใครจับคู่ผิดให้เปลี่ยนใหม่ให้ถูก
- ครูถามนักเรียนว่า สิ่งที่คู่กันนี้อันไหนสำคัญกว่ากัน? หรือสำคัญเท่ากัน? เช่น พ่อกับแม่ ใครสำคัญกว่ากัน? หรือสำคัญเท่ากัน? ทำไม?
- ครูสรุป สิ่งที่คู่กันนี้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่มีใครสำคัญกว่าใครเพราะถ้าขาดฝ่ายหนึ่งไป อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่มีความหมาย เช่น ขาดแม่พ่อก็เป็นหม้าย ขาดพ่อแม่ก็เป็นหม้าย ขาดร้อนโลกก็หนาวอยู่ไม่ได้ ขาดเย็นโลกก็ร้อนอยู่ไม่ได้ ฯลฯ

ขั้นที่ 3 คำสอน

1. ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้วสครีจะถูกถือว่าเป็นที่สองรองจากชาย ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวที่ว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” หรือหนักไปกว่านั้นอีก “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” เรียกว่าสตรีไม่เป็นผู้เป็นคนไปเลยหรือ “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” แสดงถึงความรังเกียจที่ลูกสาว สู้ลูกชายไม่ได้แม้ในยุคปัจจุบันนี้ที่ถือว่า เป็นยุคสิทธิมนุษยชน สตรีในที่หลายแห่งก็ยังถูกกดขี่ ถูกกระทำในลักษณะที่เป็นทาสหรือสิ่งของ เช่น สตรีที่ถูกขายหรือถูกบังคับเป็นโสเภณี โสเภณีเด็ก เป็นต้น หรือประเพณีปฏิบัติบางแห่งที่สังคมดูเหมือนจะสนับสนุนและยอมรับ เช่น การที่ผู้ชายจะมีภรรยาได้หลายๆ คน ถือว่าเป็นเรื่องมีหน้ามีตาหรือเป็นของธรรมดา ดูตัวอย่างเพล “จะเชยหรือเปล่าที่เราไม่มีเมียน้อย” สตรีเลยกลายเป็นเพียงของเชิดหน้าชูตาของชายไปแต่ยังนับว่าโชคดีที่ฐานะของสตรีกำลังได้รับการยกย่องมากขึ้น มีสตรีเป็นจำนวนมากก้าวเข้ามามีบทบาทเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาย ทั้งในด้านการเมือง (ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ฯลฯ) ในด้านการศึกษา (ครูบาอาจารย์ ผู้คงแก่เรียน) ฯลฯ ในด้านการทหาร (นายพร นายพัน ฯลฯ) และในด้านอื่นๆ

2. พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนและปฏิบัติต่อสตรีเท่าเสมอกับชาย เช่น
- ทรงกระทำอัศจรรย์ช่วยสตรีหลายต่อหลายคน

 ทรงปลุกลูกสายของไยรัส หัวหน้าศาลาธรรม ให้กลับเป็นขึ้นมา (มก 5:41-42)

 ทรงรักษาสตรีที่เป็นโรคตกเลือดให้หาย (มก 5:29)

 ทรงรักษาลูกสาวของสตรีชาวคานาอันซึ่งเป็นคนต่างชาติให้หายโรค (มธ 25:28)

- ทรงเอื้ออาทรต่อสตรีที่มีน้ำใจดีทั้งหลาย
 ทรงพอพระทัยเป็นแขพิเศษในบ้านของมาร์ธาและมารีบ่อยๆ (มธ 21:17)

 ทรงเมตตาอภัยบาปให้สตรีคนบาป (ลก 7:47)

 ทรงมีสตรีที่ติดตามปรนนิบัติพระองค์จากกาลิลีถึงกรุงเยรูซาเล็ม (ลก 7:47)

 ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูคริสต์ยกย่องให้เกียรติสตรีเท่าเสมอกับชาย ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการเปลี่ยนทัศนคติของคนสมัยนั้นที่ยังถือสตรีต้องอยู่ใต้อำนาจของชาย

3. พระศาสนจักรก็ยึดถือคำสั่งสอนและการปฏิบัติของพระเยซูคริสต์มาเป็นแนวทางในการปลูกฝังความเชื่อและการปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะในสังคายนาวาติกันที่ 2 ในสังฆธรรมนูญเรื่อง พระศาสนจักรในโลกปัจจุบัน มีกล่าวว่า “สตรีในปัจจุบันได้ก้าวมารับภาระในแทบทุกสาขาอาชีพ.....ทุกคนควรรับรู้และสนับสนุนให้สตรีได้มีส่วนในวิถีชีวิตต่างๆ” (ข้อ 60)
ในพระดำรัสปิดประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2 พระสันตะปาปา เปาโลที่ 6 ได้ทรงกล่าวถึงสตรีเป็นพิเศษว่า “บัดนี้ข้าพเจ้าขอพูดกับพวกท่านที่เป็นสตรีที่มีฐานะต่างๆ เช่น เป็นเด็ก ภรรยา แม่บ้าน แม่หม้าย บรรดานักบวชหญิง และสตรีโสดทั้งหลาย พวกท่านมีจำนวนถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลก พระศาสนจักรภูมิใจที่ได้ยกย่องให้เกียรติและช่วยกอบกู้พวกท่านให้สามารถก้าวขึ้นมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชายได้ แต่บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ฐานะของสตรีจะต้องบรรลุถึงขั้นที่สมบูรณ์ถึงเวลาที่สตรีจะต้องเป็นผู้มีอิทธิพล มีผลงาน มีพลังอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงในยุคนี้ที่มนุษยชาติกำลังตกอยู่ในกระแสเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน สตรีที่เปี่ยมด้วยจิตตารมณ์แห่งพระวรสารจะสามารถกอบกู้มนุษยชาติมิให้เสื่อสลายไป” พระศาสนจักรยังเชื้อเชิญ สนับสนุนและรับรองสตรีให้มามีบทบาทพิเศษในพระศาสนจักรโดยถวายตัวเป็นนักบวชคณะต่างๆ ตามสถิติล่าสุดปรากฏว่ามีนักบวชหญิง (หรือซิสเตอร์) ในพระศาสนจักรถึง 875,332 คน ในขณะที่พระสงฆ์ซึ่งเป็นชายมีเพียง 404,031 องค์เท่านั้น นักบวชหญิงเหล่านี้จึงมีพลังช่วยงานธรรมทูตและงานสงเคราะห์ของพระศาสนจักรต่อชาวโลกอย่างกว้างขวาง (ลองให้นักเรียนช่วยกันพิจารณาหาบทบาทของซิสเตอร์ในประเทศไทยมายืนยัน) นอกจากนั้นพระศาสนจักรยังแต่งตั้งสตรีหลายต่อหลายตนให้เป็นนักบุญคือผู้ที่บรรลุคุณธรรมขั้นสูงเช่นเดียวกับชายอกสามศอก สามารถเป็นแบบอย่างแก่คนอื่นๆ ได้ เรามีนักบุญหญิงมากมาย (ให้นักเรียนลองบอกชื่อนักบุญหญิงที่รู้จักรมาให้มากที่สุด) ในจำนวนเหล่านี้มีบางองค์เป็นถึงนักปราชญ์ด้วย เช่น นักบุญเทเรซาแห่งอาวิลลา นักบุญกาทารีนาแห่งเซียนา เป็นต้น

4. จึงสมควรอย่างยิ่งแล้วที่ปีนี้ซึ่งเป็นปีสตรีสากล ชาวเราจะได้มารำลึกถึงศักดิ์ศรีและความสำคัญของสตรีผู้เป็นแม่ เป็นภรรยา เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นครู เป็นเพื่อน ตลอดจนผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมมากมาย เชิญชวนชาวเรามาร่วมรับรู้ ยกย่องให้เกียรติ และปฏิบัติต่อสตรีเหล่านี้ให้สมศักดิ์ศรีดังที่กล่าวมาแล้วด้วยเถิด

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ

ก.ข้อควรจดจำ

1.1 พระเยซูคริสต์ทรงยกย่องให้เกียรติสตรี ทรงสั่งสอนและปฏิบัติต่อสตรีเท่าเสมอกับชาย ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการแลกเปลี่ยนทัศนคติของคนสมัยนั้นที่ยังถือสตรีต้องอยู่ภายใต้อำนาจของชาย

1.2 พระศาสนจักรได้ยึดถือคำสั่งสอนและการปฏิบัติของพระเยซูคริสต์มาเป็นแนวทางในการปลูกฝังความเชื่อและการปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง

1.3 ปีนี้ซึ่งเป็นปีสตรีสากล เรามารำลึกถึงศักดิ์ศรีและความสำคัญของสตรีโดยการร่วมรับรู้ ยกย่องให้เกียรติและปฏิบัติต่อสตรีให้สมศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์

ข.ปฏิบัติ 


ท่องจำบทกลอนที่เกี่ยวกับสตรีต่อไปนี้
           อหังการของดอกไม้
    สตรีมีสองมือ  มั่นยึดถือในแก่นสาร
   เกลียวเอ็นจักเป็นงาน  มิใช่ร่านหลงแพรพรรณ
    สตรีมีสองตีน  ไว้ป่ายปีนความใฝ่ฝัน
   ยืนหยัดอยู่ร่วมกัน  มิหมายมั่นกินแรงใคร
    สตรีมีดวงตา  เพื่อเสาะหาชีวิตใหม่
   มองโลกอย่างกว้างไกล  มิใช่คอยชม้อยชวน
    สตรีมีดวงใจ  เป็นดวงไฟไม่ผันผวน
   สร้างสมพลังมวล   ด้วยเธอล้วนก็คือคน
    สตรีมีชีวิต  ล้างรอยผิดด้วยเหตุผล
   คุณค่าเสรีชน   มิใช่ปรนกามารมณ์
    ดอกไม้มีหนามแหลม มิใช่แย้มคอยคนชม
   บานไว้เพื่อสะสม  ความอุดมของแผ่นดิน
(จากบทกลอนของคุณจิระนันท์  พิตตปรีชา)

3. การบ้าน  
เลือกข้อปฏิบัติ 1 ข้อไปปฏิบัติที่บ้านและที่โรงเรียน

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์