ccpcommandment05.jpgพระบัญญัติประการที่ห้า
อย่าฆ่าคน





32. ทำไมจึงต้องให้เคารพต่อชีวิตของมนุษย์
   
(2258-2262, 2318-2320)
 ชีวิตของมนุษย์ต้องได้รับความเคารพ เพราะชีวิตเป็นของมีค่าและศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตเป็นผลงาน สร้างที่ยิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้า การทำร้ายหรือการทำลายชีวิตมนุษย์ที่บริสุทธิ์เป็นการ กระทำที่ถือว่าผิดหนัก ตามที่พระคัมภีร์ได้ยืนยันว่า “อย่าประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์หรือผู้ชอบ ธรรม” (อพย 23:7)

33. การต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองผิดต่อคำสอนเรื่องการเคารพชีวิตหรือไม่
   
(2263-2265)
การต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองไม่ถือผิดต่อคำสอนเรื่องการเคารพต่อชีวิต แต่การป้องกันตัวที่ถูกต้องนั้นกลับเป็นการแสดงถึงเคารพสิทธิกับชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่นอีกด้วย เพราะเราไม่ได้ตั้งใจทำร้ายหรือทำลายชีวิตคนอื่น แต่เป็นแค่ป้องกันตนเอง อย่างไรก็ดีเราจะต้องกระทำโดยไม่ใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็น

34. เมื่อเราทำผิด เราควรได้รับการลงโทษหรือไม่ และการลงโทษมีจุดประสงค์อะไร
    
(2266)
เมื่อเราทำผิดเราสมควรได้รับการลงโทษจากผู้มีอำนาจของรัฐ ทั้งนี้เพื่อเป็นการชดเชยความผิดระเบียบที่เกิดขึ้น และเพื่อปกป้องระเบียบของรัฐและความมั่นคงปลอดภัยของบุคคล การลงโทษยังเป็นการแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของผู้กระทำผิดอีกด้วย

35. คาทอลิกสนับสนุนให้มีการลงโทษโดยการประหารชีวิตหรือไม่
    
(2267)
คาทอลิกไม่สนับสนุนการลงโทษด้วยการประหารชีวิต กรณีที่มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้โทษประหารชีวิตตามกฎหมายของรัฐ ควรหาวิธีการลงโทษโดยต้องให้ถึงกับหลั่งเลือด ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ผู้มีอำนาจน่าจะใช้วิธีการนี้เท่านั้น เพื่อเป็นการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเปิดโอกาสให้คนผิดนั้นได้กลับตัวเป็นคนดี

36. พระบัญญัติประการห้าห้ามอะไร
    
(2268-2283, 2321-2326)
พระบัญญัติประการห้าถือว่า  สิ่งต่อไปนี้เป็นความผิดอย่างร้ายแรงต่อกฎศีลธรรม คือ การฆ่าคนโดยตรงและโดยตั้งใจ รวมทั้งการให้ความร่วมมือด้วย การทำแท้งโดยจงใจ ทั้งโดยตรงและตั้งใจ รวมไปถึงการให้ความร่วมมือด้วย การทำการุณยฆาตกรรมโดยตรง คือการกระทำให้ชีวิตของบุคคลที่พิการ เจ็บป่วยหรือใกล้ตายต้องสิ้นสุดลง และ การฆ่าตัวตาย  ทั้ฝโดยตรง และการให้ความร่วมมือโดยตรงกับการกระทำนี้

37. การทำตัวเป็นที่สะดุดหมายถึงอะไร
    
(2284-2287)
การเป็นที่สะดุด คือการชักนำผู้อื่นให้กระทำความชั่ว หรือไม่ให้เคารพต่อจิตวิญญาณและร่างกายของตนเองและผู้อื่น บุคคลใดก็ตามหากมีความตั้งใจที่จะทำให้ผู้อื่นทำบาปหนักถือเป็นการทำบาปหนักแล้วด้วย
 
38. เรามีหน้าที่ต่อร่างกายอย่างไร
    
(2288-2291)
เราต้องดูแลรักษาสุขภาพของร่างกายทั้งของตนเองและของผู้อื่นอย่างสมเหตุสมผล แต่ต้องหลีกเลี่ยงการดูแลหรือการรักร่างกายของตนเองที่เกินเลยทุกชนิด เราต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติดที่ก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิต  รวมทั้งค่านิยมที่ไม่ถูกต้องในการรับประทานอาหาร แอลกอฮอล์ บุหรี่และสิ่งเสพติดอื่นๆ


39. การทำการทดลองแบบวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์ หรือทางจิตวิทยาต่อมนุษย์แต่ละคน หรือต่อกลุ่มคน จะถูกต้องตามศีลธรรมหรือไม่อย่างไร 
     
(2292-2295)
การทดลองทางวิทยาศาสตร์จะถือว่าถูกต้องตามศีลธรรมเมื่อ การทดลองนั้นเป็นการกระทำเพื่อความดีของบุคคลและของสังคม แต่ต้องไม่เป็นการเสี่ยงต่อชีวิตและความสมบูรณ์ครบครันทางกายภาพและทางจิตใจของผู้รับการทดลอง ซึ่งบุคคลนั้นต้องได้รับการชี้แจงอย่างถูกต้องและได้รับการยินยอมเสียก่อน

40. อนุญาตให้เปลี่ยนหรือบริจาคอวัยวะทั้งก่อนและหลังความตายหรือไม่
    
(2296)
การเปลี่ยนอวัยวะเป็นที่ยอมรับตามหลักศีลธรรม ถ้าเป็นความสมัครใจของผู้ให้และไม่เป็นการเสี่ยงต่อชีวิตของเขา ส่วนการบริจาคอวัยวะหลังจากความตายเป็นสิ่งดีน่ายกย่อง แต่ต้องแน่ใจว่าผู้บริจาคนั้นได้เสียชีวิตแล้วจริงๆ

41.  การปฏิบัติแบบใดถือว่าขัดกับการให้ความเคารพต่อร่างกายของมนุษย์
    
(2297-2298)
พฤติกรรมต่อไปนี้เป็นการแสดงถึงการไม่เคารพร่างกายของมนุษย์ การลักพาตัวและการกักขังหน่วงเหนี่ยง การก่อการร้าย การทรมาน ความรุนแรงและการทำให้เป็นหมันโดยตรง ส่วนการตัดหรือย้ายอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของบุคคลออกจะถือว่าถูกต้องตามหลักศีลธรรมก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือเพื่อจุดประสงค์การรักษาทางการแพทย์เท่านั้น

42. เราจะให้การดูแลคนที่ใกล้จะตายอย่างไร
    
(2299)
ผู้ใกล้ตายมีสิทธิในการดำเนินชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีในบั้นปลายชีวิตของเขาบนโลกนี้   สิ่งที่เราจะต้องช่วยเหลือเขาก็โดย การภาวนาและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยเตรียมเขาให้พบกับพระเป็นเจ้าผู้ทรงชีวิต

43. เราจะต้องปฏิบัติอย่างไรกับร่างของผู้ตาย
    
(2300-2301)
ร่างกายของผู้ตายต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความรักและเคารพ อนุญาตให้ทำการเผาศพได้หากการกระทำนั้นไม่ได้กระทำไปเพราะไม่เชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกาย

44. ทำไมพระเป็นเจ้าทรงเรียกร้องเราให้ร่วมมือกันสร้าง “สันติภาพ”
    
(2302-2305)
พระเจ้าทรงประกาศว่า “ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข” (มธ 5:9) เพราะสันติภาพจะนำมาซึ่งความสุขที่แท้จริง พระองค์ทรงเรียกร้องให้มีสันติภาพโดยเริ่มจากภายในจิตใจของแต่ละคน และทรงประณามความโกรธ การเกลียดชัง และการแก้แค้น ท่าทีเหล่านี้หากกระทำด้วยความรู้ตัว เต็มใจ และเป็นเรื่องที่สำคัญ ก็ถือว่าเป็นบาปหนัก เพราะผิดต่อความรัก

45. สันติภาพในโลกคืออะไร
    
(2304-2305)
สันติภาพในโลก คือความเคารพ และการพัฒนาชีวิตมนุษย์ สันติภาพไม่ใช่เป็นเพียงการปลอดสงคราม “ผลงานของความยุติธรรม” (อสย 32:17) และ ผลของความรัก  สันติภาพในโลกเป็นภาพลักษณ์และผลของสันติสุขของพระคริสตเจ้า

46. สันติภาพเรียกร้องให้เราแต่ละคนปฏิบัติตนอย่างไร
    
(2304, 2307-2308)
สันติภาพในโลกเรียกร้องให้มีการแบ่งปันที่เท่าเทียมกัน และการพิทักษ์รักษาความดีของกันและกัน มีอิสระที่จะติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกัน มีความเคารพต่อศักดิ์ศรีของบุคคลและของประชาชน   ปฏิบัติต่อกันด้วยความยุติธรรมและความเป็นพี่น้องกัน

47. การใช้กำลังทางทหารเมื่อใดจึงถูกต้องตามหลักศีลธรรม
    
(2307-2310)
การใช้กำลังทหารได้อย่างถูกต้องตามความชอบธรรมทางศีลธรรมเมื่อมีเงื่อนไขต่อไปนี้คือ
- มั่นใจว่าจะเกิดความทุกข์อันตรายร้ายแรงอย่างแน่นอนจากผู้บุกรุก
- ได้พยายามใช้วิถีทางอื่นๆ เพื่อให้เกิดสันติแต่ไร้ผล
- ต้องมีการคาดการณ์จริงจังว่าทำแล้วจะสำเร็จแน่นอน
- การใช้อาวุธโดยเฉพาะอานุภาพของเครื่องมือในการทำลายล้างที่ทันสมัยนั้น ต้องไม่ก่อให้เกิดความเลวร้ายที่หนักกว่าความเลวร้ายที่จะกำจัดออกไป

48. เมื่อตกอยู่ในอันตรายของสงคราม ผู้ใดมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการประเมินสถานการณ์ว่าจะต้องใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างชอบธรรมได้
 
(2309,)
ความรับผิดชอบนี้เป็นการตัดสินใจที่รอบคอบของอำนาจฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งมีสิทธิที่จะกำหนดออกข้อบังคับที่จำเป็นต่อการป้องกันประเทศชาติแก่พลเมือง การปฏิบัติตามกฎข้อบังคับนี้ได้รับการยกเว้นในกรณีที่ถ้าทำหน้าที่นี้แล้วขัดกับมโนธรรมอันเป็นสิทธิส่วนตัวของเขา เขาก็สำควรที่จะขอรับใช้สังคมในรูปแบบอื่นได้ (เช่น มโนธรรมไม่สงบเพราะต้องออกรบแนวหน้ารบฆ่ากัน จึงขออยู่ทำหน้าที่อยู่แนวหลัง)

49. กฎศีลธรรมเรียกร้องอะไรในภาวะสงคราม
    
(2312-2314, 2328)
กฎศีลธรรมยังคงใช้ได้เสมอแม้ในภาวะสงคราม เรียกร้องให้มีการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมกับผู้ไม่ได้สู้รบ ทหารที่บาดเจ็บและเชลยสงคราม  กิจการต่างๆ ที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างชาติและการออกคำสั่งลักษณะเช่นนี้ถือเป็นอาชญากรรม  ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะแก้ตัวไม่ได้ว่าต้องเชื่อฟังอย่างตาบอด     จะต้องประณามการทำลายล้างประชาชนกลุ่มหนึ่ง หรือชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นบาปหนัก กฎศีลธรรมบังคับให้เราต่อต้านคำสั่งของผู้ออกคำสั่งเช่นนั้น

50. เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามจะต้องทำอย่างไร
    
(2315-2317, 2327-2330)
เราต้องกระทำทุกสิ่งอย่างสมเหตุสมผลเท่าที่สามารถเป็นไปได้ เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามในทุกรูปแบบ เพราะสงครามก่อให้เกิดความชั่วร้ายและความอยุติธรรม   จะต้องหลีกเลี่ยงการสะสมและการค้าอาวุธที่มิได้มีการควบคุมอย่างถูกต้องจากผู้มีอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอยุติธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม การแบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา ความอิจฉา ความไม่ไว้วางใจกัน  ความหยิ่งจองหองและเจตนาแก้แค้น ยิ่งเราขจัดสิ่งเหล่านี้และความวุ่นวายทางการเมืองอื่นๆ ออกได้มากเท่าไร ก็ยิ่งก่อให้เกิดสันติภาพและหลีกเลี่ยงสงครามได้มากเท่านั้น